วันนี้ (23 กันยายน 2554) ที่ จ.สมุทรปราการ  นายวิทยา  บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและคณะ ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ รพ.สมุทรปราการ และเปิดป้ายศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองบ้านคลองบางปิ้ง ต.บางเมือง อ.เมือง ซึ่งเป็นต้นแบบศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองแห่งแรกในเขตอ.เมือง จ.สมุทรปราการ ดูแลประชากร 25,858 คน ซึ่งรวมประชากรแฝงด้วย  ทำหน้าที่เป็นด่านหน้า(Gate Keeper) มีแพทย์ประจำ 1 คน ตรวจรักษาผู้ป่วยโรคทั่วๆไปเช่น ไข้หวัด ปวดหัว และดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ทำฟัน แพทย์แผนไทย มีผู้ใช้บริการวันละ 80-100 คน ไม่ต้องไปรับบริการที่รพ.สมุทรปราการ หลังจากนั้นเดินทางไปที่รพ.สต.บ้านคู่สร้าง อ.พระสมุทรเจดีย์ ซึ่งได้รับรางวัลสุดยอดส้วมของสถานพยาบาลระดับประเทศในปี 2553  

นายวิทยา กล่าวว่า จากการตรวจเยี่ยมรพ.สมุทรปราการ พบว่า มีประเด็นที่ต้องเร่งแก้ไขในเรื่องของการจัดบริการ เนื่องจากจังหวัดนี้มีขนาดเล็ก แต่มีโรงงานอุตสาหกรรมมากที่สุดในประเทศ ถึง6,207 แห่ง จัดเป็นพื้นที่พิเศษ มีประชากรในพื้นที่และมีประชากรแฝงรวมทั้งต่างด้าวรวมกว่า 2 ล้านคน เฉพาะที่เขตอำเภอเมืองมีประชากรประมาณ 4 แสนคน ประชากรแฝงประมาณ 3-4 แสนคนสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ 2-3 เท่าตัว และประชากรมีการเคลื่อนย้ายเข้า-ออกตลอดเวลา โดยรพ.สมุทรปราการ ขณะนี้เป็นโรงพยาบาลทั่วไปมีเตียงรองรับผู้ป่วยเพียง385  เตียง แต่มีผู้ป่วยนอนรักษาวันละ440 คน มีอัตราครองเตียงสูงถึง 114 เปอร์เซ็นต์ มีผู้ป่วยรอเตียงมากกว่า 50คนต่อวัน ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจที่ควรอยู่ ในไอซียูมีเพียง 1ใน  5 เท่านั้นที่รับได้

ส่วนแผนกผู้ป่วยนอกมีผู้ป่วยมารับบริการปีละประมาณ 5 แสนครั้งเฉลี่ยวันละ 2,000 คนถือว่ามากที่สุดเทียบเท่าผู้ป่วยที่ใช้บริการในโรงพยาบาลศูนย์ ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินประมาณ 300 คน และโรคทั่วไปประมาณ 300 คน ที่เหลือ 70 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้ป่วยที่ต้องพบแพทย์เฉพาะทาง ขณะนี้รพ.สมุทรปราการ มีเครือข่ายบริการ รพ.สต. 21 แห่ง ซึ่งอยู่นอกเขตเทศบาลเมือง สามารถรองรับผู้ป่วยได้ปีละ 6 แสนครั้ง มีบริการตรวจโรคทั่วไป ทันตกรรม ฝากครรภ์ เจาะเลือดติดตามผลการรักษาโรคเบาหวานและแพทย์แผนไทย

ในการพัฒนาระบบบริการของจังหวัดนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะพัฒนายกระดับ รพ.สมุทรปราการให้เป็นโรงพยาบาลศูนย์ ขนาดมากกว่า 500 เตียง ในปี 2558 ใช้งบก่อสร้างประมาณ 400 ล้านบาท โดยจะให้เป็นศูนย์เชี่ยวชาญรักษาผู้ป่วย 5 สาขา ได้แก่ 1.ศูนย์อาชีวเวชศาสตร์ รักษาโรคจากการประกอบอาชีพ เนื่องจากเป็นพื้นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมของประเทศ 2.ศูนย์ผ่าตัดสมอง 3.ศูนย์รักษาผู้ป่วยไฟไหม้-น้ำร้อนลวก 4.ศูนย์รักษามะเร็ง และ 5.ศูนย์รักษาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทุกชนิด รองรับผู้ป่วยใน 5 จังหวัด ได้แก่ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ นครนายก สระแก้วและปราจีนบุรี ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นคนไทย รวมทั้งการลงทุนของต่างชาติด้วย  ขณะนี้ได้จัดทำแผนพัฒนา ทั้งผู้เชี่ยวชาญ บุคลากรไว้เรียบร้อยแล้ว

ขณะเดียวกันจะเร่ง ลดความแออัดของรพ.สมุทรปราการ โดยเพิ่มศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง รองรับประชาชนที่อยู่ในเขตเทศบาลเมือง ทำหน้าที่ตรวจรักษาโรคทั่วไป รวมทั้งการติดตามดูแลผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องพบแพทย์และกินยาต่อเนื่อง จัดแพทย์บริการตลอด 5 วันทำการและมีบริการทันตกรรม ฝากครรภ์ เจาะเลือด เอ็กซเรย์ ห้องแล็ป แพทย์แผนไทย เช่นเดียวกับโรงพยาบาลใหญ่ คาดว่าต้องสร้างเพิ่ม 4 แห่ง ขณะนี้เริ่มดำเนินการแล้ว 1 แห่ง คือศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองราชา เช่าตึก 2 คูหาอยู่หน้าตลาดสด พร้อมเปิดบริการ 5 ธันวาคม 2554 นี้ อีก 1 แห่ง คาดว่าจะเปิดที่บริเวณริมถนนสุขุมวิท อยู่ระหว่างสำรวจสถานที่

************************************* 23 กันยายน 2554



   
   


View 12    23/09/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ