ปลัดกระทรวงสาธารณสุขมอบนโยบายให้โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ตั้งศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองในเขตเทศบาลเมืองทั่วประเทศ ปีนี้เริ่ม 215 แห่ง ทำหน้าที่เป็นหน่วยพยาบาลตรวจรักษาโรคทั่วไป ทำฟัน เยี่ยมไข้ฟื้นฟูสุขภาพ ประชาชนในเขตเมืองได้รับบริการสะดวก รวดเร็วและโดนใจสุดๆ วันนี้(16 กันยายน 2554)ที่ศูนย์การประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมผู้บริหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ จำนวน 600 คน เพื่อมอบนโยบายการพัฒนาศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง ให้เป็นแนวทางเดียวกันทั่วประเทศและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และให้บริการที่ได้มาตรฐาน ประชาชนเข้าถึงบริการอย่างสะดวก รวดเร็ว โดยมีรูปแบบของศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง 4 จังหวัดคือ พระนครศรีอยุธยา นครราชสีมา แพร่ และสงขลา เป็นต้นแบบ พร้อมมอบโล่ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองดีเด่นระดับเขต 18 รางวัล นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายจะพัฒนาระบบริการสุขภาพของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกระดับทั่วประเทศ ให้สามารถบริการที่บูรณาการและเชื่อมโยงกัน โดยเพิ่มขีดความสามารถโรงพยาบาลแต่ละระดับ ให้การรักษาผู้ป่วยให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ เช่น พัฒนาโรงพยาบาลศูนย์ที่กระจายในภาคต่างๆ ให้มีความเป็นเลิศ เป็นศูนย์เชี่ยวชาญไม่แตกต่างจากโรงเรียนแพทย์ เช่นศูนย์โรคหัวใจ ศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน ศูนย์มะเร็ง และศูนย์ทารกแรกเกิด มีระบบการส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาต่อที่มีประสิทธิภาพ และพัฒนาโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สามารถให้บริการเชิงรุก ป้องกันโรค ลดจำนวนผู้ป่วย ให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างทั่วถึง เป็นธรรม ทันเวลา และมีความพึงพอใจต่อบริการหรือโดนใจประชาชนสูงสุด สำหรับงานเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการขณะนี้ คือการลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทั่วประเทศ คือที่โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์กลางรักษาผู้ป่วยที่มีอาการหนัก รุนแรง มีผู้เชี่ยวชาญ เครื่องมือแพทย์ชั้นสูง โดยมีประชาชนมาไปตรวจรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกหรือโอพีดีเฉลี่ยวันละกว่า 2,000 คน ผู้ป่วยดังกล่าวประมาณ 2 ใน 3 ป่วยเป็นโรคทั่วๆไป ทำให้โอพีดีแน่นแออัด รอคิวนาน แพทย์มีเวลาตรวจน้อย ส่งผลให้คุณภาพการรักษาพยาบาลลดลง จึงมีนโยบายจัดตั้งศูนย์บริการสุขภาพชุมชนเมืองในเขตเทศบาลเมืองทุกแห่ง ให้เป็นหน่วยบริการสุขภาพของโรงพยาบาลใหญ่ตรวจรักษาผู้ป่วยทั่วๆไป หากป่วยหนักหรือฉุกเฉินจะส่งรักษาที่โรงพยาบาลใหญ่ ระบบนี้ประชาชนจะได้รับบริการสะดวก เร็วขึ้นกว่าเดิม นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อไปว่า ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองนั้นจะมีบริการทั้งให้การรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค รวมทั้งการเข้าเยี่ยมบ้านดูแลฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยในชุมชน โดยเฉพาะโรคเรื้อรังเช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง และมีบริการการแพทย์แผนไทยควบคู่ไปด้วย โดยศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง 1 แห่งจะดูแลประชากรประมาณ 30,000 คน ในระยะแรกจะตั้ง 215 แห่ง โรงพยาบาลศูนย์จะตั้ง 3 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไปจะตั้ง 2 แห่ง ส่วนโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ ให้ทำตามความสามารถ ขณะนี้บางจังหวัดเริ่มทำแล้ว คาดว่าจะครบทุกแห่งภายใน 3 เดือนนี้ แต่ละแห่งจะมีแพทย์ประจำอย่างน้อย 1 คน มีเภสัชกร ทันตแพทย์ พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการสาธารณสุข นักกายภาพหรือแพทย์แผนไทย และเจ้าหน้าที่อื่นๆ และนำบัตรคิวทันสมัยมาใช้เหมือนคิวของธนาคาร ........................ 16 กันยายน 2554


   
   


View 12    16/09/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ