“สมศักดิ์” ยกระดับหมอนวดไทยเชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย หนุนเศรษฐกิจสุขภาพ
- สำนักสารนิเทศ
- 370 View
- อ่านต่อ
“ต่อพงษ์”บินอินเดีย ร่วมประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุข 11 ประเทศ ถกปัญหาเชื้อดื้อยา
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำคณะผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการไทย ร่วมประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุข 11 ประเทศภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ที่อินเดีย ครั้งที่ 29 ซึ่งมี 2 ประเด็นสำคัญเร่งแก้ไขคือ ปัญหาเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ ซึ่งในไทยพบสูงถึงร้อยละ 25-50 และการควบคุมป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเป็นสาเหตุให้ประชากรโลกเสียชีวิตปีละ 36 ล้านคน แนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
วันนี้ (6 กันยายน 2554) นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำคณะผู้บริหารและนักวิชาการไทย เข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขของประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้ง 29 (29th Meeting of Ministers of Health of Countries of WHO South- East Asia Region : HMM) ซึ่งประกอบด้วย 11 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน เกาหลีเหนือ อินเดีย อินโดนีเซีย มัลดีฟส์ พม่า เนปาล ศรีลังกา ไทย และติมอร์เลสเต จัดโดยองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในวันที่ 6 กันยายน 2554 ที่โรงแรมชิฟ วิลล่า รีสอร์ท เมืองชัยปุระ รัฐราชสถาน สาธารณรัฐอินเดีย เพื่อหารือและผลักดันนโยบายความร่วมมือด้านสาธารณสุขในภูมิภาคฯ รวมทั้งกำหนดแนวทางการดำเนินงานของภูมิภาคฯ ให้สอดคล้องกับมติที่ประชุมใหญ่สมัชชาอนามัยโลกประจำปี 2554
นายต่อพงษ์ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญของการประชุมครั้งนี้ มี 2 เรื่องใหญ่ที่กำลังเป็นประเด็นเร่งด่วนทางสุขภาพของทุกประเทศและมีแนวโน้มสูงขึ้น ได้แก่ การแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาต้านปฏิชีวนะ (Antimicrobial resistance) ซึ่งยาดังกล่าวนี้เป็นกลุ่มที่ใช้มากที่สุดในโลก โดยไทยพบอัตราเชื้อดื้อยาสูงถึงร้อยละ 25-50 สาเหตุสำคัญมาจากการใช้ยาไม่ถูกต้องหรือใช้เกินความจำเป็น ทำให้ยาปฏิชีวนะที่เคยใช้ ไม่ได้ผลเท่าที่ควร และจะต้องใช้ยาแพงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายการรักษาสูงขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจะเป็นปัญหามากในประเทศที่มีสถานะการเงินน้อย ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระดับภูมิภาค ไทยจะผลักดันให้องค์การอนามัยโลก กำหนดและสร้างความเข้มแข็งให้หน่วยงานหรือองค์กรระดับชาติที่รับผิดชอบกำกับดูแลและประเมินผลภาพรวมทั้งการใช้ยาในคนและในสัตว์ ซึ่งจะทำให้กลไกการแก้ไขปัญหาในประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงให้เร่งกำจัดยาปลอมให้หมดไป
ประเด็นที่ 2 คือการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่สำคัญ 4 โรค ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคปอดเรื้อรัง ซึ่งกำลังคุกคามสุขภาพประชากรทั่วโลก เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตปีละประมาณ 36 ล้านคน หรือร้อยละ 63 ของการเสียชีวิตทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยจะมีอัตราเพิ่มสูงสุดในประเทศกำลังพัฒนา ในส่วนของประเทศไทยขณะนี้พบว่าโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตร้อยละ 73 ของการเสียชีวิตทั้งหมด สาเหตุปัญหาหลักมาจาก 4 ประการคือ การบริโภคยาสูบ การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การออกกำลังกาย และพฤติกรรมการบริโภคอาหาร โรคนี้ไม่มีวัคซีนป้องกัน จะต้องป้องกันที่พฤติกรรมของประชาชนเป็นหลัก โดยองค์การอนามัยโลกได้เสนอให้ประเทศต่างๆใช้ 26 มาตรการดำเนินการแก้ไขปัญหาในระดับบุคคล ซึ่งในการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขร่วมกัน 11 ประเทศครั้งนี้ จะได้หาข้อสรุปแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน เนื่องจากเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจหลายส่วนทั้งเรื่องน้ำเมา ยาสูบ อาหาร และจะผลักดันข้อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมของผู้บริหารสมัชชาสหประชาชาติ ซึ่งจะมีการประชุมการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อในเดือนนี้ที่ สหรัฐอเมริกา นายต่อพงษ์กล่าว
**************** 6 กันยายน 2554