รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดพัฒนาศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศที่มีเกือบ 20,000 แห่ง เป็นเขตปลอดโรคติดต่อที่พบบ่อยอย่างน้อย 6 โรค อาทิ โรคหวัด โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน โรคมือเท้าปาก หัด อีสุกอีใส ภายใน พ.ศ. 2556  เพื่อให้เด็กไทยมีสุขภาพดี พัฒนาการสมวัย โดยใช้ 3 ยุทธศาสตร์ 10 มาตรการดูแล 

          วันนี้ (2 กันยายน 2554) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดประชุม ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข นักวิชาการ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานป้องกันควบคุมโรค กรมควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ครูผู้ดูแลเด็กของศูนย์เด็กเล็ก และเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 350 คน เพื่อพัฒนาศูนย์เด็กเล็กให้ปลอดภัยจากโรคติดต่อ 
          นายวิทยา กล่าวว่า สภาพสังคมไทยในปัจจุบันนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน และนำบุตรหลานไปฝากเลี้ยงในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลจำนวนมาก คาดว่าน่าจะมีประมาณร้อยละ 20 หรือประมาณ 700,000 คน จากจำนวนเด็กก่อนวัยเรียนอายุ 1 4 ปีที่มีประมาณ 3.2 ล้านคนทั่วประเทศ   นับเป็นเรื่องที่น่าห่วงใย หากมีเด็กเจ็บป่วย โรคจะแพร่ระบาดได้ง่าย เนื่องจากเด็กอยู่รวมกันจำนวนมากและเด็กเล็กเป้นกลุ่มที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำอยู่แล้ว และเด็กยังป้องกันตัวเองไม่เป็น โรคที่พบบ่อย 6 โรค ได้แก่ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจเช่นไข้หวัด โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน โรคมือเท้าปาก คางทูม อีสุกอีใส และหัด หากมีเด็กป่วย ส่งผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโต และพัฒนาการของเด็ก กระทบการทำงานและค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง  
               
               
          นายวิทยา กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งมีทั่วประเทศประมาณ 20,000 แห่ง ให้เป็นศูนย์เด็กเล็กปลอดโรคติดต่อที่กล่าวมา และเป็นศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่ เพื่อให้เด็กมีสุขภาพดี มีพัฒนาการสมวัย ไม่เจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อที่สามารถป้องกันได้ โดยให้กรมควบคุมโรค และกรมอนามัยร่วมกันพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานแนวทางปฏิบัติ สนับสนุนแก่พื้นที่ โดยเร่งรัดให้สำเร็จทุกแห่งภายในปี2556 
          ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการติดตามเฝ้าระวังการเจ็บป่วยในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี ได้รับรายงานในรอบ 8 เดือนปีนี้ มีเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี ป่วยจาก 6 โรคที่พบได้บ่อยที่กล่าวมารวม 2 แสนกว่าคน แนวทางในการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กปลอดโรคมี 3 ยุทธศาสตร์ใหญ่คือครูผู้ดูแลเด็กมีสุขภาพและความรู้ดี มีระบบริหารจัดการดี และสภาพแวดล้อมในศูนย์เด็กเล็กดี ไม่แออัด ไม่มีแมลงนำโรค
 
  
โดยมีแนวทางปฏิบัติทั้งหมด 10 มาตรการ ได้แก่ 1. การจัดอบรมความรู้ และการควบคุมโรคติดเชื้อที่พบบ่อยในเด็กเล็กแก่ครูที่ดูแลเด็ก 2.ตรวจสอบประวัติการได้รับวัคซีนของเด็กทุกภาคเรียน 3.ตรวจสุขภาพร่างกายและบันทึกอาการป่วยของเด็กทุกคน ทุกวัน 4.หากมีเด็กป่วย ให้ใช้มาตรการควบคุมป้องกันการแพร่กระจายเชื้อเบื้องต้น คือแยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ และทำความสะอาดทำลายเชื้อสถานที่ อุปกรณ์ของเล่น เครื่องใช้ต่างๆ อย่างถูกวิธี 5.ครูผู้ดูแลเด็กต้องได้รับการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 2 ครั้ง
          มาตรการที่ 6 หากครูเจ็บป่วย ต้องหยุดพักอยู่บ้านจนกว่าจะหาย 7.ครูจะต้องให้ความรู้กับเด็กในเรื่องการป้องกันควบคุมโรคง่ายๆ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง 8.จัดให้มีกิจกรรมล้างมือทุกวัน 9. เมื่อมีเด็กป่วยให้ครูดูแลเบื้องต้นและแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทราบ และ 10.ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข จัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องโรคติดต่อที่พบบ่อยในเด็กแก่ผู้ปกครอง อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ทั้งนี้จากการนำร่องใช้ 10 มาตรการที่ พัฒนาศูนย์เด็กเล็กปลอดโรค 31 แห่ง ใน 4 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา อุบลราชธานี เชียงราย และสุราษฎร์ธานี ตั้งแต่ปี 2552 2553 พบว่าได้ผลดีมาก สามารถลดอัตราอุบัติการณ์ของโรคหวัดจากร้อยละ 24.9 เหลือเพียงร้อยละ 9.0 พบโรคมือ เท้า ปาก เพียงร้อยละ 0.25 และพบโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ร้อยละ 1 นอกจากนี้ยังสามารถตรวจจับและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ  
**********************  2 กันยายน 2554


   
   


View 20    02/09/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ