สาธารณสุขลงนามร่วมมือกับกรุงเทพมหานครและสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อให้สถานที่ราชการสวนสาธารณะ ที่อยู่ในกำกับดูแล เป็นเขตปลอดเหล้า ห้ามขาย ห้ามดื่ม ห้ามโฆษณาเหล้า เผยในรอบ 11 เดือนมานี้ ประชาชนโทรร้องเรียนการละเมิดกฎหมายเหล้าเกือบ 4,000 สาย กทม.ปริมณฑลสูงสุดถึงร้อยละ 71

                   

 วันนี้ (31 สิงหาคม 2554) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การจัดสถานที่ราชการและสวนสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย สำนักงานเขตกรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต สถานีตำรวจนครบาลทุกแห่ง และสวนสาธารณะเป็นพื้นที่ปลอดเหล้าตามกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551     
                  นายแพทย์ณรงค์กล่าวว่า ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้กำหนดให้สถานที่ราชการและสวนสาธารณะที่อยู่ในกำกับดูแลของราชการ ต้องปฏิบัติดังนี้ 1.ห้ามขายและห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด 2.ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดโดยอนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เฉพาะในร้านค้าหรือสโมสรที่เปิดบริการเป็นประจำหรือถาวร ห้ามขายให้แก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์  และให้ขายได้เฉพาะในเวลาที่กฎหมายกำหนดเท่านั้นคือเวลา 11.00-14.00 น. และ เวลา 17.00-24.00 น. ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติเหมือนกันทั่วประเทศ เพื่อมุ่งลดปัญหาที่เกิดมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งอุบัติเหตุ อาชญากรรม
 นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า เพื่อสนองนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่จะดำเนินในปีแรก คือการเร่งรัดปราบปรามการค้ายาเสพติด ผู้มีอิทธิพล สิ่งอบายมุขและสิ่งยั่วยุเยาวชน ซึ่งรวมถึงเหล้าด้วย ขณะนี้ต้องยอมรับว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีการมอมเยาวชนให้ริลองหลายรูปแบบ ให้ดื่มง่ายหรือสังเกตยากขึ้น เช่นทำเป็นเหล้าปั่นคล้ายน้ำผลไม้ปั่น หรือผสมแล้วใส่ในภาชนะบรรจุน้ำดื่มชนิดอื่น จะให้เจ้าหน้าที่กวดขันให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเข้มข้น และลงโทษอย่างจริงจัง คือ 1. การโฆษณาหรือส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 500,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 50,000 บาท  2. ถ้าขายหรือบริโภคในสถานที่หรือบริเวณต้องห้ามตามกฎหมายจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  3. การขายผิดเวลากำหนดมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 4,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ  4. ถ้าขายให้บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม การติดตามเฝ้าระวังผู้กระทำผิดเรื่องเหล้าจะต้องทำรอบด้าน 360 องศา อาศัยความร่วมมือจากสังคม ประชาชน กระทรวงสาธารณสุขได้เปิดสายด่วนรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเหล้าทางหมายเลข 02- 5901332 ตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 สิงหาคม 2554 ได้รับแจ้ง 3,690 สาย เฉลี่ยวันละ 11 สาย ในจำนวนนี้ร้อยละ 71 อยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้เร่งให้เข้มงวดกวดขันร้านค้า สถานประกอบการ เพิ่มความถี่ตรวจเตือนเรื่องกฎหมายให้มากขึ้น เรื่องที่รับแจ้งส่วนใหญ่เป็นเรื่อง การโฆษณาและการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายของร้านค้า การขายเหล้าบริเวณรอบสถานศึกษาและมหาวิทยาลัยต่างๆ ตลอดจนการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ นายแพทย์ณรงค์กล่าว
จากการสำรวจพฤติกรรมการดื่มสุราปี 2550 พบว่าประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปที่มี 51.2 ล้านคน พบเป็นผู้ที่ดื่มสุรา 14.9 ล้านคนหรือร้อยละ 29  ผู้ชายดื่มมากกว่าผู้หญิงประมาณ 6 เท่า และที่น่าเป็นห่วง กลุ่มเยาวชนอายุต่ำกว่า 24 ปี มีอัตราดื่มสูงถึงร้อยละ 22 เริ่มดื่มอายุเฉลี่ย 17 ปี  กลุ่มวัยทำงานมีอัตราการดื่มมากกว่ากลุ่มอื่นคือร้อยละ 34    เริ่มดื่มอายุเฉลี่ย 20 ปี         
**************** 31 สิงหาคม 2554


   
   


View 16    31/08/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ