ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมหน่วยงานแพทย์ทั้งภาครัฐเอกชน เตรียมพร้อมระบบบริการการแพทย์ในภาวะวิกฤตจากพิบัติภัยและเหตุการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ชี้ในปี 2549 ทั่วโลกเผชิญพิบัติภัยจากธรรมชาติมากถึง 354 ครั้ง และมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นรุนแรงและหลากหลาย
เช้าวันนี้ (16 มีนาคม 2550) ที่โรงพยาบาลราชวิถี กรุงเทพฯ นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาวิชาการวิชาการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ประจำปี 2549 เรื่อง การบริหารโรงพยาบาลที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและภัยพิบัติ จัดโดยสมาคมนักบริหารโรงพยาบาลประเทศไทย สมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน โดยมีสมาชิกสมาคม ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารหน่วยงานบริการด้านสุขภาพ จากภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ บริษัทประกันสุขภาพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมประชุมประมาณ 500 คน
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า ประเทศไทยได้ประสบพิบัติภัยรุนแรงหลายครั้ง เช่น ธรณีพิบัติภัยสึนามิบริเวณจังหวัดชายฝั่งอันดามัน ในปี 2547 การเกิดพิษโบทูลินั่มจากหน่อไม้ปี๊บที่จังหวัดน่าน ในปี 2549 รวมทั้งสถานการณ์ความไม่สงบ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่ยืดเยื้อยาวนานและส่อเค้าทวีความรุนแรงมากขึ้น เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ ทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก ทั้งการสูญเสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ ตลอดจนเกิดปัญหาทางจิตใจ ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมมือร่วมใจกันช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ ทำให้สถานการณ์คลี่คลายลงอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาพิบัติภัยที่เกิดขึ้นขณะนี้ ทั้งจากธรรมชาติ จากโรคระบาด สงครามชีวภาพ และจากน้ำมือมนุษย์ มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นรวดเร็ว หลากหลายสถานที่และซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยองค์การอนามัยโลกรายงานว่า ในปี 2549 ทั่วโลกมีภัยพิบัติจากธรรมชาติเกิดขึ้น 354 ครั้งใน 160 กว่าประเทศ มีผลให้ประชาชนกว่า 100 ล้านคนประสบปัญหาไร้ที่อยู่อาศัย และประชาชนอีกกว่า 500 ล้านคน ยังต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ภัยพิบัติ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและเสียชีวิตสูงกว่าคนทั่วไปถึง 300 เท่า ทั้งนี้ ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง มีความรุนแรงเกินกว่าที่หน่วยงานเพียงหน่วยงานเดียวจะสามารถรับมือได้ หน่วยงานด้านสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชน จึงต้องเตรียมความพร้อมผนึกกำลังและประสานความร่วมมือกัน จัดบริการทางการแพทย์ในภาวะวิกฤตให้มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานวิชาชีพ เพื่อรักษาชีวิตของประชาชนให้ปลอดภัย และลดผลกระทบด้านสุขภาพจิตให้มากที่สุด อันจะทำให้บริการทางการแพทย์ในภาวะวิกฤตของไทย เป็นที่ยอมรับในระดับสากล นายแพทย์ปราชญ์กล่าว
ด้านแพทย์หญิงศรีวรรณา พูลสรรพสิทธิ์ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข ด้านเวชกรรม กล่าวว่า การจัดประชุมสัมมนาวิชาการครั้งนี้ ประกอบด้วย การอภิปรายจากผู้บริหารสาธารณสุข การแสดงปาฐกถาพิเศษ การบริหารงานที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลง โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ความมั่นคงของประเทศในปัจจุบันและอนาคต โดย พลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สถานการณ์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดย รศ.นพ.สุเมธ พีรวุฒิ ผู้อำนวยการ ร.พ.สงขลานครินทร์ และ พญ.ภัททิรา ทางรัตนสุวรรณ ผู้อำนวยการ ร.พ.สมเด็จพระยุพราชสายบุรี จังหวัดปัตตานี ซึ่งได้รับรางวัลนักบริหารโรงพยาบาลยอดเยี่ยม ประจำปี 2549 นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการแสดงความพร้อมของระบบสาธารณสุขไทย ในการรับมือการเปลี่ยนแปลงและอุบัติภัย โดยกรมแพทย์ทหารเรือ ทหารอากาศ และทหารบก กระทรวงกลาโหม สภากาชาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข พร้อมทั้งมอบรางวัลนักบริหารโรงพยาบาล และนักเวชศาสตร์ป้องกัน ประจำปี 2549 ด้วย
มีนาคม4/10 ************************************* 16 มีนาคม 2550
View 9
16/03/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ