สธ. แจง “ต่างด้าว” เข้ารักษามีค่าใช้จ่าย ยกเว้น 3 กลุ่ม “รอสัญชาติไทย-อยู่ในประกันสังคม-ซื้อประกันสุขภาพ” มีกองทุนดูแล
- สำนักสารนิเทศ
- 194 View
- อ่านต่อ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเผยเหตุพยาบาลจบใหม่ส่วนใหญ่ลาออก เนื่องจากไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ เร่งแก้ไขพัฒนาระบบกำลังคนด้านพยาบาล ยกเครื่องทั้งระบบ 3 แนวทาง ตั้งทีมศึกษาข้อมูลการใช้กำลังอย่างแท้จริงในโรงพยาบาลทุกระดับ พร้อมเตรียมออกนอกระบบและบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุขมีสวัสดิการเทียบเท่าข้าราชการ ลดปัญหาการลาออก
วันนี้ (9 สิงหาคม 2554) ที่โรงแรมสุนีย์แกรนด์ แอนด์ คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ จังหวัดอุบลราชธานี นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ “แนวทางพัฒนาคน เพื่อพัฒนางานการพยาบาล” เพื่อเผยแพร่ แลกเปลี่ยนความรู้ แนวทางการพัฒนากำลังคนทางการพยาบาลและนวัตกรรมทางการพยาบาล มีพยาบาลทุกระดับทั่วประเทศร่วมประชุมจำนวน 1,300 คน
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขรายใหญ่ของประเทศเนื่องจากมีหน่วยงานบริการประชาชนกระจายทั่วประเทศกว่า 10,000 แห่ง หรือประมาณร้อยละ 80 ของหน่วยให้บริการรักษาพยาบาลทั้งหมดมีผู้ป่วยนอกเข้ารับการรักษาปีละ 180 ล้านครั้ง และผู้ป่วยในปีละ 2 ล้านคน ขณะนี้กระทรงสาธารณสุขประสบปัญหาขาดแคลนกำลังคน โดยพยาบาลที่จบใหม่ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ จึงเป็นสาเหตุให้ลาออกไปทำงานในภาคเอกชน ทำให้บุคลากรโดยเฉพาะพยาบาลที่มีอยู่ทั่วประเทศประมาณ 70,000 - 80,000 คน ไม่สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นการแก้ไขด้านกำลังคนของพยาบาลจะต้องแก้ไขทั้งระบบ คือ 1.ต้องผลิตพยาบาลให้เพียงพอ และ 2.ต้องรักษาบุคลากรที่ผลิตมาให้ทำงานในระบบได้
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ทางออกการแก้ไขเรื่องกำลังคน กระทรวงสาธารณสุขได้วางทิศทางแก้ไข 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ศึกษากำลังคนสุขภาพในระดับประเทศและระดับกระทรวงสาธารณสุข โดยตั้งทีมวิชาการศึกษากำลังคนในสาขาต่างๆ ที่จำเป็นทั้งระบบทำงานควบคู่กับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เพื่อศึกษาข้อมูลเชิงลึกในหน่วยบริการทุกระดับ และศึกษาในหน่วยจัดการศึกษาทุกแห่งเพื่อให้ได้ข้อมูลการใช้กำลังคนที่แท้จริง คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปลายปีนี้
2.เตรียมการออกนอกระบบ ไม่สังกัดกับ ก.พ. เพื่อบริหารกำลังคนแบบอิสระโดยมีพระราชบัญญัติรองรับคล้ายกับกระทรวงศึกษาธิการและ 3.จัดระบบบริหารลูกจ้างชั่วคราวให้อยู่ในระบบได้ โดยจัดเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุขรูปแบบเฉพาะมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีสวัสดิการเช่นเดียวกับข้าราชการและมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อเกษียณอายุ ซึ่งเบื้องต้นจะมีพนักงาน 3 กลุ่มคือ กลุ่มวิชาชีพเฉพาะ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล เป็นต้น กลุ่มเชี่ยวชาญพิเศษ และกลุ่มเทคนิคบริการบริหารทั่วไป นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าว