ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือภาคเหนือและภาคตะวันออก พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลันจากพายุ“นกเตน” เตรียม 4 แผนรับมือตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งการป้องกันน้ำท่วมอาคารสถานที่ เครื่องมือแพทย์ การสำรองทรัพยากรที่จำเป็น การอพยพผู้ป่วย และการจัดหน่วยบริการเคลื่อนที่    

                             

                นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบจากพายุ“นกเตน” ว่า ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) โรงพยาบาลทุกระดับที่มีความเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลันตามคำเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยา โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคตะวันออก ได้แก่ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร มุกดาหาร กาฬสินธุ์ อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย ชัยภูมิ ขอนแก่น แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง สุโขทัย พิจิตร น่าน พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร ตาก ระยอง จันทบุรี และตราด  เตรียมแผนรองรับ 4 แผนหลัก  

                   

             นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า แผนดังกล่าวประกอบด้วย 1.แผนเตรียมความพร้อมเพื่อการป้องกันน้ำท่วม อาคาร สถานที่ อุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์  เช่น การเตรียมกั้นกระสอบทราย   การขนย้ายเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ และอุปกรณ์อื่นๆ ไปไว้ในจุดที่ปลอดภัย    2.แผนสำรองทรัพยากรต่างๆ ที่มีความจำเป็นหากเกิดภาวะน้ำท่วม เช่นออกซิเจนเพื่อใช้ในผู้ป่วยหนักที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือใช้ในห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด       3. แผนเตรียมความพร้อมการอพยพผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินหากมีน้ำท่วมอาคารบริการ และ4.แผนเตรียมความพร้อมการให้บริการนอกสถานที่ตามความจำเป็นเช่นการให้บริการภาคสนาม การออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ให้พร้อมตลอด 24 ชั่วโมง

       ทั้งนี้ ได้ให้เจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์และการพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด และให้หน่วยแพทย์ฉุกเฉินเตรียมความพร้อม หากประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถโทรแจ้งขอความช่วยเหลือด้านการแพทย์ได้ที่หมายเลข 1669   ตลอด 24 ชั่วโมง   

************************   31 กรกฎาคม 2554



   
   


View 14    31/07/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ