รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทึ่งผลสำเร็จการรักษาอาการบวมโตผิดปกติ หรือภาวะบวมน้ำเหลืองหลังผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งปากมดลูก เต้านม ของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ดัดแปลงผ้าปูที่นอนกับด้ามไม้กวาดธรรมดา มาเป็นเครื่องขันชะเนาะ ให้ผลลดบวม น่าทึ่งได้ในเวลาอันสั้น ประหยัด ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ชาวบ้านทำได้เองหลังดูแค่สาธิต ใช้เงินค่ารักษาไม่เกิน 10,000 บาท วันนี้ (14 มีนาคม 2550) ที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กทม. นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรคและคณะ เยี่ยมชมการรักษาภาวะบวมที่แขนขา จากท่อน้ำเหลืองอุดตันอย่างเรื้อรังด้วยวิธีการขันชะเนาะ เพื่อลดอาการบวม ซึ่งเป็นนวัตกรรมด้านการแพทย์ของคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล โดยใช้หลักการเรียบง่าย ประหยัด สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ใช้วิธีการปฏิบัติที่ไม่ซับซ้อน ได้ผลในระยะเวลาสั้น นายแพทย์มงคล กล่าวว่า อาการแขนขาบวมน้ำเหลืองเป็นโรคที่พบได้ทั่วโลก เกิดจากท่อน้ำเหลืองอุดตัน ทำให้การไหลเวียนของน้ำเหลืองไม่ดี และมีการคั่งทำให้อวัยวะส่วนนั้นบวมโต แต่ไม่มีอาการเจ็บปวด จากข้อมูลเชิงระบาดวิทยาขององค์การอนามัยโลกประมาณว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยแขนขาบวมจากน้ำเหลืองอุดตันมากถึง 250 ล้านคน โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกามีประมาณ 1-2 ล้านคน สำหรับในไทยยังไม่มีตัวเลขแน่ชัด ซึ่งในอดีตจะพบผู้ป่วยที่มีอาการบวมตามมือ เท้า เต้านม หรือที่อัณฑะ มักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อจากพยาธิตัวกลมขนาดเล็กมาก ที่มีชื่อว่าฟิลาเรีย(Filariasis) ซึ่งทำให้เป็นโรคเท้าช้าง พยาธิดังกล่าวอาศัยในยุง แต่ปัจจุบันโรคดังกล่าวลดน้อยลงมาก ในไทยยังเหลือโรคเท้าช้างอยู่ที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมากที่สุดที่จังหวัดนราธิวาส จำนวน 118 ราย เมื่อโรคทำให้เกิดอาการบวมที่แขนขาแล้ว จะรักษาไม่ได้ผล อย่างไรก็ตามขณะนี้เราสามารถกินยาป้องกันไม่ให้เกิดโรคเท้าช้างได้ ซึ่งได้ผลดีมาก จำนวนคนป่วยที่มีความพิการลดน้อยลง แต่ปัญหาที่ทำให้เกิดอาการแขนขาบวมได้อีกในขณะนี้ มักพบในผู้ป่วยหลังทำผ่าตัดรักษามะเร็ง ที่สำคัญคือ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งอัณฑะ ที่แพทย์ได้เลาะต่อมน้ำเหลืองออกไป และฉายรังสีควบคู่ด้วย เพื่อป้องกันไม่เซลล์มะเร็งลุกลามไปอวัยวะอื่น วิธีการเหล่านี้จะทำลายระบบระบายน้ำเหลืองของส่วนแขนขา ทำให้น้ำเหลืองไหลเวียนไม่ดี หลังจากนั้นอาจจะค่อยๆบวมขึ้นเป็นแบบเรื้อรัง จะรู้สึกเจ็บปวด เช่น ปวดน่อง ปวดขา ปวดสะโพก แพทย์เรียกว่าเป็นอาการของโรคเท้าช้างเทียม จากการศึกษาในต่างประเทศ พบอาการบวมในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมได้ร้อยละ 15 ในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกพบได้ร้อยละ 25 ผู้ป่วยได้รับความทุกข์ทรมานมาก ทำงานได้ไม่สะดวก หาเสื้อผ้าใส่ยาก ทางด้านนายแพทย์วิชัย เอกทักษิณ รองคณะบดีฝ่ายเทคโนโลยีการศึกษาและสารสนเทศ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การรักษาอาการบวมจากน้ำเหลืองคั่งในอดีต แพทย์จะใช้วิธีลดความตีบตันโดยพันผ้ายืด สวมถุงผ้าตึง อัดปั๊มลมไล่น้ำเหลือง กระตุ้นด้วยไฟฟ้า หรือใช้วิธีนวดน้ำเหลืองด้วยมือ บริหารกล้ามเนื้อขา นอนยกเท้าสูง และผ่าตัดเชื่อมหลอดน้ำเหลืองเข้ากับหลอดเลือดดำเพื่อลดขนาด หรือปลูกสร้างทางเดินน้ำเหลืองใหม่ แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ 2/นายแพทย์วิชัย.................................... -2- นายแพทย์วิชัย กล่าวต่อไปว่า น้ำเหลืองในร่างกายคนเรานี้ ผลิตมาจากตับมากที่สุดและปล่อยน้ำเหลืองออกมามากที่สุดกว่าครึ่งของทั่วร่างกาย ในการแก้ปัญหาแขนขาบวมจากสาเหตุน้ำเหลืองคั่ง แพทย์ผู้เชียวชาญด้านเวชศาสตร์เขตร้อน หน่วยวิจัยตับ ได้ร่วมกันศึกษาวิจัยค้นคว้าการรักษาการลดอาการบวมจากน้ำเหลืองคั่งแนวใหม่ โดยใช้วิธีการขันชะเนาะ นำวัสดุง่ายๆ หาได้ตามพื้นบ้านมาใช้ง่ายที่สุดคือ ผ้าปูที่นอนกับด้ามไม้กวาด โดยพันผ้ายึดรอบอวัยวะที่บวม จากนั้นจึงขันชะเนาะเพิ่มแรงบีบรัด เพื่อไล่น้ำเหลืองที่คั่งอยู่ตามเซลล์ต่างๆ ขึ้นไปหาส่วนบนของร่างกาย ในการขันชะเนาะจะขันตึงที่บริเวณส่วนปลายของอวัยวะเพื่อให้มีแรงบีบสูงที่สุดและลดหลั่นลงมาถึงส่วนต้นของอวัยวะให้แรงบีบต่ำที่สุด โดยจะทำการขันและคลายชะเนาะสลับกันเป็นช่วงๆ อวัยวะที่บวมก็จะค่อยๆยุบลง ทั้งนี้การรักษาอาการบวมของแขนขาจากน้ำเหลืองคั่งแบบขันชะเนาะดังกล่าว ใช้หลักการ การบีบรังผึ้งที่บานเต่งให้ค่อยๆหุบแฟบลง เพื่อผลักดันให้เกิดเป็นท่อน้ำเหลืองสายใหม่ ซึ่งนักวิจัยค้นพบว่าท่อน้ำเหลืองที่เคยถูกตัดหายไปหรือเสียหายแล้วสามารถสร้างขึ้นมาใหม่ได้ ในขั้นแรกแพทย์จะเป็นผู้ประเมิน และจัดการวางระบบการขันชะเนาะให้เหมาะสม ใช้เวลารักษาตั้งแต่ 3 วันถึง 2 เดือน ขึ้นอยู่กับขนาดอวัยวะที่บวม หลังจากนั้นผู้ป่วยสามารถนำไปทำเองที่บ้านได้ แต่จะต้องทำอย่างต่อเนื่อง วิธีการนี้จะลดวันนอนของผู้ป่วยในโรงพยาบาลให้น้อยลง ประหยัด สำหรับค่ารักษาไม่รวมห้องพักไม่ถึง 10,000 บาท จากการรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีขันชะเนาะ ตั้งแต่ 5 มกราคม 2549 ถึงปัจจุบัน จำนวน 27 ราย เป็นชาวไทย 25 ราย ญี่ปุ่น 2 ราย อายุระหว่าง 24-79 ปี พบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แขนขาของผู้ป่วยที่เคยบวมมีขนาดเล็กลงจนขนาดใกล้เคียงปกติ สุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้นอย่างมาก ชะเนาะที่ทำขึ้นนี้มีทั้งชะเนาะคู่ มีห่วงสอดไม้ขั้น และมีรุ่นชะเนาะร้อยเชือกคล้ายรองเท้าผ้าใบ ขณะนี้คณะเวชศาสตร์ฯได้ดำเนินการจดสิทธิบัตรในไทยแล้ว อยู่ระหว่างยื่นจดสิทธิบัตรในประเทศญี่ปุ่น


   
   


View 16    14/03/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ