ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเผย ยังไม่พบรายงานมีตัวอ่อนพยาธิในทากดูดเลือด แต่หลังถูกทากกัดอาจเป็นไปได้ที่จะเพิ่มความเสี่ยงพยาธิปากขอ ตัวอ่อนพยาธิสตรองจิลอยดิส ไชเข้าทางบาดแผลได้ ส่วนทากที่มีพยาธิเป็นชนิดที่ไม่ดูดเลือดและยังพบในหอยทาก หอยโข่ง หอยเชอรี่ กุ้ง ปู กบ ปลา ตะกวด นอกจากนี้ยังพบตัวอ่อนพยาธิในพืชผักสดที่ทากคลานผ่าน และในแหล่งน้ำธรรมชาติ แนะประชาชนโดยเฉพาะคนเดินป่า งดกินอาหารดิบ งดดื่มน้ำจากลำธาร ลำห้วย

นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับที่มีข่าวเจ้าหน้าที่วนอุทยานแห่งชาติ ที่เข้าไปปฎิบัติภารกิจในป่าวนอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ถูกทากกัดและสงสัยอาจมีพยาธิเข้าไปในร่างกายด้วย ว่า ตัวทาก ( Land Leech) ชนิดที่ดูดเลือดคนเป็นอาหาร ยังไม่มีการรายงานการพบตัวอ่อนพยาธิ อย่างไรก็ดี เนื่องจากเกิดบาดแผลบริเวณที่ทากดูดเลือดกัด อาจมีพยาธิปากขอและตัวอ่อนของพยาธิสตรองจิลอยดิส ซึ่งอาศัยอยู่ตามดินที่มีความชุ่มชื้นเช่นในป่า โดยตัวอ่อนของพยาธิปากขอ สามารถไต่ขึ้นไปบนยอดหญ้าได้สูงประมาณ 1 ฟุต และทิ้งตัวลงมาไชเข้าผิวหนังทางบาดแผลหรือไชเข้าทางบริเวณง่ามมือ หรือง่ามเท้า ซึ่งหลังจากที่พยาธิทั้ง 2 ชนิดไชเข้าร่างกายแล้ว จะมีอาการคันและมีรอยบวมแดงตรงจุดที่พยาธิไชผ่าน หากสงสัยสามารถตรวจหาวินิจฉัยหาตัวอ่อนหรือไข่พยาธิได้ และมียารักษาหายได้

นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า ยังมีทากอีกชนิดหนึ่งคือทากชนิดที่ไม่ดูดเลือด (Slug) ทากชนิดนี้กินพืชเป็นอาหารและหอยทาก(Land snail)ที่มีพยาธิอยู่ในตัวชื่อว่าสตรองจิลัส แคนโตเนนสีส (Angiostrongylus cantonensis)หรือที่เรียกว่าพยาธิปอดหนูหรือพยาธิหอยโข่ง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โดยตัวอ่อนพยาธิจะเจริญเติบโตได้ในตัวทากและหอยทากและยังพบพยาธิชนิดนี้ในพวกหอยโข่ง หอยทากยักษ์ หอยเชอรี่ หอยขม สัตว์น้ำจืดเช่นปู ปลา กุ้ง กบ และตะกวด สามารถป้องกันได้ โดยประชาชนต้องงดกินเนื้อสัตว์ประเภทดังกล่าวแบบสุก ๆ ดิบ ๆ หรือดิบ

โดยเฉพาะคนเดินป่า ต้องงดกินพืชผักสดในป่า ซึ่งทากอาจคลานผ่าน งดดื่มน้ำจากลำธาร ลำห้วย ซึ่งอาจมีตัวอ่อนพยาธิระยะติดต่อปะปนอยู่ และหลังกลับจากเข้าป่า ในระยะ 1 วัน ถึง 5 สัปดาห์ หากมีอาการป่วย เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะอย่างรุนแรง โดยเฉพาะการปวดตุบๆที่บริเวณหน้าผากและขมับทั้ง 2 ข้าง ขอให้รีบพบแพทย์และแจ้งประวัติการกินเนื้อสัตว์ดิบ พืชผัก และน้ำดื่มขณะเดินป่าให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง    

 ทั้งนี้พยาธิหอยโข่งหรือพยาธิปอดหนู ตัวเต็มวัยจะอาศัยอยู่ที่เส้นเลือดใหญ่ที่ไปเลี้ยงปอดของหนู คนไม่ใช่แหล่งอาศัยของพยาธิชนิดนี้ แต่อาจติดพยาธิที่อยู่ในระยะตัวอ่อนระยะที่ 4ที่ 5 ได้ แต่ตัวอ่อนพยาธิจะไม่เจริญเติบโตกลายเป็นตัวเต็มวัยเหมือนที่อยู่ในหนู กลุ่มคนที่เสี่ยงติดพยาธิหอยโข่ง คือ คนเดินป่าและกินเนื้อทากที่ไม่ใช่ทากดูดเลือด หรือกินเนื้อหอย กินเนื้อสัตว์ดิบ พืชผัก และน้ำดื่มขณะเดินป่า เข้าไปโดยตรง ส่วนคนทั่ว ๆ ไปและคนที่กินอาหารปรุงสุกด้วยความร้อน ถือว่าไม่เสี่ยง จากการติดตามผู้ป่วยจากพยาธิหอยโข่งในประเทศไทย   ส่วนใหญ่จะติดจากการกินดิบ ที่พบมากที่สุดคือกินหอยโข่ง หอยเชอรี่ดิบ มีรายงานในปี 2543-2544 พบผู้ป่วยประปรายที่จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดในภาคอีสาน 

สำหรับการป้องกันทากกัด เวลาเข้าป่าให้สวมเสื้อผ้าให้มิดชิด ซึ่งนอกจากจะป้องกันทากกัดแล้ว จะป้องกันสัตว์เล็กสัตว์น้อยกัด เช่น ยุงก้นปล่องที่ทำให้เกิดโรคมาลาเรีย และตัวไรอ่อนที่เป็นสาเหตุของโรคสครัปไทฟัส โดยอาจใช้ยาฉุน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ทาผิวหนังที่โผล่พ้นเสื้อผ้า จะสามารถป้องกันทากกัดได้เช่นกัน

 ********************************************** 27 กรกฎาคม 2554


   
   


View 12    27/07/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ