จากกรณีที่มีข่าวโรงงานชำแหละไก่ ลักลอบนำไก่ตายที่ประมูลซื้อในราคาถูกจากฟาร์มหลายแห่งในราคาถูก เพื่อนำไปขายทำเป็นกุนเชียง ไก่หยอง ร้านอาหารตามสั่ง และร้านปิ้งย่างในพื้นที่ นอกจากนี้โรงงานดังกล่าวยังมีพฤติกรรมสร้างความเดือดร้อน เนื่องจากไก่ส่วนใหญ่มีกลิ่นเน่าเหม็นนั้น

ความคืบหน้าในวันนี้ (13 มิถุนายน 2554) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้สั่งการให้ นายแพทย์คำรณ ไชยศิริ ผู้ตรวจราชการประจำเขต ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ลงไปดำเนินการตรวจสอบตั้งแต่เมื่อวานนี้ และในช่วงบ่ายวันนี้ผู้ตรวจราชการและผู้ว่าราชการจังหวัด ก็จะลงไปในพื้นที่ด้วยตัวเองอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตามข้อมูลเบื้องต้นทราบว่า ได้มีการจับกุมโรงงานชำแหละไก่ตายแห่งนี้ดำเนินคดีมาแล้วครั้งหนึ่งในช่วงเดือนเมษายน 2554 ขณะนี้อยู่ระหว่างการฟ้องศาล การจับกุมเที่ยวนี้เข้าใจว่าจะเป็นกลุ่มเดิมอีก
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างน้อย 3 ฉบับที่จะดำเนินการลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมาย ในเรื่องของอาหารรวมทั้งโรคติดต่อได้แก่ 1.พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ซึ่งถ้ามีการตรวจพบว่าไก่ตายที่นำมาชำแหละนั้น มีการปนเปื้อนสารที่เป็นอันตรายเช่น ฟอร์มาลินเป็นต้น เข้าข่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ มีสิ่งปนเปื้อน มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 2. พระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ.2535 ซึ่งมีการดำเนินคดี 3 ข้อหา คือ1.การก่อเหตุรำคาญ โทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 2,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ 2.ดำเนินกิจการอันเป็นอันตรายต่อสุขภาพ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ 3.เป็นสถานที่เก็บอาหารที่มีพื้นที่เกิน 200ตารางเมตร โดยไม่ขออนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 2,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และ 3.พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2523 ถ้าตรวจพบว่าเป็นแหล่งแพร่เชื้อและจะทำให้เกิดโรคติดต่อในพื้นที่จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
        
ส่วนกรณีของการเลี้ยงไก่ หรือที่ฟาร์มไก่ เมื่อมีไก่ตาย โดยหลักต้องทำลาย ถ้าไม่ทำลายก็จะเป็นส่วนของปศุสัตว์ที่จะเป็นผู้ดำเนินการต่อไปตามกฎหมาย ขณะนี้ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ดำเนินการติดตามสุ่มตรวจเนื้อไก่ที่จำหน่ายในสถานที่ต่าง ๆ ที่เข้าข่ายว่าอาจจะเป็นแหล่งเสี่ยงจำหน่ายไก่ชำแหละที่ไม่ได้คุณภาพ เพื่อดูแลความปลอดภัยคุ้มครองผู้บริโภคและประชาชน
         
อย่างไรก็ตามในการเลือกซื้อเนื้อไก่ ประชาชนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในการเลือกซื้อเนื้อไก่ที่มีคุณภาพ โดยมีข้อแนะนำวิธีการเลือกซื้อดังนี้ 1.เนื้อไก่ที่ดีจะต้องมีเนื้อแน่น เมื่อเอานิ้วกดแล้วเนื้อจะไม่มีรอยบุ๋ม 2. เนื้อไก่ต้องไม่มีกลิ่นผิดปกติ ไม่มีรอยช้ำ หรือไม่มีจุดเลือดออก เนื่องจากเนื้อที่มีลักษณะดังกล่าวอาจจะเป็นไก่ที่ติดเชื้อหรือเป็นเนื้อที่ไม่ปกติ 3. ให้สังเกตดูที่สีเนื้อไก่จะต้องสด ไม่มีสีแดงผิดธรรมชาติ 4. เนื้อไก่ต้องไม่มีเมือกลื่น เพราะหากมีเมือกอาจจะเป็นไก่ตายผิดปกติ หรือเนื้อเน่าเสียแล้ว และควรเลือกซื้อเนื้อไก่ในสถานที่จำหน่ายที่ได้คุณภาพมาตรฐานเช่นตลาดสดน่าซื้อ ซึ่งผ่านการรับรองมาตรฐานตลาดสดจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข หรือเป็นร้านที่ได้มาตรฐานเชื่อถือได้
         ************************************* 13 มิถุนายน 2554 


   
   


View 12    13/06/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ