เพื่อลดการขยายตลาดยาสูบในประเทศกำลังพัฒนาและลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยอันเกิดจากบุหรี่

                วันนี้(23 พฤษภาคม 2554)ที่กระทรวงสาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ ดร.มัวรีน อี.เบอร์มิงแฮม (Dr. Maureen E. Birmingham) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย แถลงข่าวเนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลกประจำปี 2554 ว่า องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก ซึ่งได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมาโดยต่อเนื่อง โดยมีการกำหนดประเด็นรณรงค์สำหรับปี 2554 ไว้ว่า พิทักษ์สิทธิตามกฎหมาย มุ่งสู่สังคมไทยปลอดบุหรี่ โดยมีเป้าหมายให้ถืออนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ ปี 2548 เป็นเสมือนกฎหมายควบคุมยาสูบโลกและให้ 170 ประเทศที่ลงสัตยาบันร่วมกันถือเป็นแนวปฏิบัติเพื่อลดการขยายตลาดยาสูบในประเทศที่กำลังพัฒนาและลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยอันเกิดจากบุหรี่
          นายจุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยนั้นได้มีการดำเนินการที่มีความก้าวหน้ามาโดยลำดับ เช่น มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติ 2 ฉบับ โดยต่อเนื่องคือ 1.พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 และ2.พระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 โดยได้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง มีการห้ามโฆษณา ห้ามส่งเสริมการขายและห้ามขายบุหรี่ให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นต้น
          ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการหลายประการ เช่น ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 19 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2553 มีผลบังคับใช้วันที่ 28 มิถุนายน 2553 กำหนดพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่ออกเป็น 3 ประเภท คือประเภทที่ 1 ห้ามทั้งในและนอกอาคาร ประเภทที่ 2 ห้ามเฉพาะในอาคารและประเภทที่ 3 อนุญาตให้สูบในอาคารได้ซึ่งมีอยู่แค่จุดเดียว คือ สนามบินสุวรรณภูมิ ในบริเวณอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศเท่านั้น
          นอกจากนั้น ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 15 เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554 โดยห้ามใช้คำที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด 3 ประเภทบนซองบุหรี่ ได้แก่ 1.ให้ใช้คำที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าบุหรี่นั้นมีโทษและอันตรายน้อย เช่น มายด์(Mild) ไลท์(Light) เป็นต้น 2.ห้ามใช้คำที่เป็นคำจูงใจที่ทำให้เกิดการอยากสูบบุหรี่ เช่น คูล(cool) ไอซ์(Ice) มินท์(Mint) เฟรซ(Fresh) เป็นต้น และ3.ห้ามใช้คำที่เข้าใจว่าบุหรี่นั้นเป็นบุหรี่ที่มีคุณภาพ เช่น สเปเชียล(Special) พรีเมียม(Premium)เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 16 ซึ่งระบุบังคับให้ต้องแสดงข้อความที่แสดงถึงโทษของบุหรี่ 10 แบบ โดยให้เลือกแบบใดแบบหนึ่งพิมพ์บนซองบุหรี่ ซึ่งทุก 5,000 ซองจะต้องเปลี่ยนข้อความ เพื่อประชาสัมพันธ์ถึงพิษภัยของบุหรี่ให้ครบทั้ง 10 ข้อความ
          นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า พร้อมได้เสนอแผนควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2553 2557 เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยตั้งเป้าหมาย 2 ประการ ได้แก่ 1.กำหนดให้ภายใน 5 ปี อัตราจำนวนผู้สูบบุหรี่ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จะต้องลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ข้อ2.จำนวนมวนบุหรี่ที่สูบต่อคนต่อปีจะต้องลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการในเรื่องสายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 ซึ่งให้บริการโดยมูลนิธิรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ตั้งแต่เวลา 07.30 20.00 น. การดำเนินการเรื่องมาตรการภาษี การแนะนำการเลิกบุหรี่ เป็นต้น
          นายจุรินทร์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับวันงดสูบบุหรี่โลกในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดกิจกรรมร่วมกับองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และภาคีเครือข่าย โดยจัดงานในวันที่ 31 พฤษภาคม 2554 เวลา 11.00 19.00 น.ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงาน และประทานรางวัล World No Tobacco Day Award 2011” และโล่ประกาศเกียรติคุณให้บุคคล หน่วยงานที่สนับสนุนการดำเนินงานด้านการควบคุมการบริโภคยาสูบ ซึ่งภายในงานจะมีการจัดนิทรรศการ ให้บริการหน่วยแพทย์ พร้อมให้คำปรึกษาการเลิกบุหรี่ ซึ่งการจัดงานมีเป้าหมายที่ต้องการประกาศผลงานของประเทศไทยในการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบและเน้นเป้าหมายในการรักษาสิทธิของคนและบุคคลรอบข้างได้รับการคุ้มครองให้ห่างใกล้จากพิษภัยของบุหรี่ เพื่อให้สังคมไทยปลอดบุหรี่
ด้าน ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 19 ที่กำหนดเขตปลอดบุหรี่และเขตที่ควรอยู่ในกรอบของกฎหมายเช่น สถานที่ราชการ สถานศึกษา ปั้มน้ำมัน เป็นต้น โดยเฉพาะในสถานศึกษาเป็นจุดหนึ่งที่พบการสูบบุหรี่เพิ่ม โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น ขอฝากผู้รับผิดชอบ ผู้บริหารต้องควบคุมให้ปฎิบัติตามกฎหมาย ต้องจัดพื้นที่ให้มีความปลอดภัย ติดสติกเกอร์ห้ามสูบบุหรี่บริเวณทางเข้าออกสถานศึกษา รวมถึงภายในสถานศึกษา ทั้งในห้องน้ำ รวมถึงเข้มงวดไม่ให้มีการสูบบุหรี่ทั้งครู บุคลากร และนักเรียน ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขจะให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องของโทษและพิษภัยของบุหรี่ทั้งในส่วนของโรงเรียนและผู้ประกอบการให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของควันบุหรี่มือ 2 ที่พบในบ้านร้อยละ 30 และพบในชุมชน เช่น ตลาดนัด มากกว่าร้อยละ 60 ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง
ด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันสถิติผู้สูบบุหรี่มีจำนวนลดลงจาก 12.26 ล้านคนในพ.ศ. 2534 เหลือ10.91ล้านคนในปี 2552 โดยเพศชายลดลงจาก 11.30 ล้านคนเหลือ 10.36 ล้านคน ส่วนเพศหญิงลดลงจาก 9.53 แสนคนเหลือ 5.45 แสนคน ส่วนเยาวชนไทยอายุระหว่าง 11 24 ปี มีอัตราการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นจาก 1.5 ล้านคน ในปี 2550 เป็น 1.7 ล้านคน ในปี 2552  
สำหรับรางวัล มี 2 ระดับ คือ 1.ระดับโลก โดยองค์การอนามัยโลกสำนักงานใหญ่ มีผู้ได้รับรางวัล 6 คนจาก 6 ประเทศได้แก่ เนปาล อินเดีย ภูฏาน มัลดีฟ อินโดนีเชียและไทย โดยในส่วนประเทศไทยผู้ได้รับรางวัลคือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 2.รางวัลระดับภูมิภาค ประเทศไทยได้รับ 2 รางวัลคือ รศ.ดร.นันทวรรณ วิจิตรวาทการ คณะบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.กรองจิต วาทีสาธกกิจ ที่ปรึกษาวิชาการด้านส่งเสริมการเลิกสูบบุหรี่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
 
 *********************************************** 23 พฤษภาคม 2554


   
   


View 11    23/05/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ