“พิษณุโลก” ฉีดวัคซีน HPV 9 สายพันธุ์ให้นักเรียนหญิง ป.5 พร้อมกันทั้งจังหวัด ให้ครอบคลุมเป้าหมายกว่า 6,000 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 173 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยพบโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองเป็นเหตุเสียชีวิต 1 ใน 3 ของคนไทย ปี 2551 พบผู้เสียชีวิตกว่า 13,000 คน และในรอบ 10 ปีพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว เร่งรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติตัว จะช่วยป้องกันโรคได้ร้อยละ 80
วันนี้ (22 เมษายน 2554) ที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดงาน รักษ์หัวใจ ในวิถีชีวิตครอบครัวไทยที่พอเพียง ว่า ปัจจุบันกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่ติดอันดับ 1 ใน 3 มาโดยตลอด ซึ่งโรคหัวใจและหลอดเลือดที่สำคัญ ได้แก่ โรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมอง และความดันโลหิตสูง โดยในปี 2551 พบผู้เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองจำนวน 13,130 คน ในรอบ 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2542 – 2551 พบผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงขึ้นกว่า 3 เท่าตัว
ดร.พรรณสิริกล่าวต่อว่า สำหรับจังหวัดสุโขทัย พบผู้ป่วยในกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้นกว่า 1.7 เท่าภายใน 7 ปี โดยเพิ่มจาก 6,582 คนในปี 2545 เป็น 11,176 คน ในปี 2552 และมีอัตราตายเพิ่มขึ้นจาก 33.46 คนต่อแสนประชากรในปี 2545 เป็น 51.44 คนต่อแสนประชากรในปี 2551
ทั้งนี้ พบว่าปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดระหว่าง เพศชายและเพศหญิงมีความแตกต่างกัน โดยเพศชายมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค คือ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง ดัชนีมวลกายสูง โคเลสเตอรอลสูง บริโภคผักและผลไม้น้อย ขาดการออกกำลังกาย ส่วนในผู้หญิงมีปัจจัยเสี่ยง คือ ความดันโลหิตสูง ดัชนีมวลกายสูง โคเลสเตอรอลสูง ขาดการออกกำลังกาย สูบบุหรี่ และบริโภคผัก ผลไม้น้อย
ดร.พรรณสิริกล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งรณรงค์ให้คนไทยมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้มีความสมดุล ระหว่างการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย ซึ่งจะสามารถป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ถึงร้อยละ 80 โดยนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติตัว พร้อมกันนี้ ยังได้ดำเนินงานเชิงรุก เน้นการสร้าง พัฒนาระบบการเฝ้าระวัง การพัฒนาศักยภาพเครือข่ายในการป้องกันโรค การสื่อสารข้อมูลสุขภาพไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง เริ่มต้นที่ครอบครัวให้ตระหนักต่อปัญหาและโรคที่จะเกิดขึ้นจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ยึดหลัก วิถีชีวิตครอบครัวไทยที่พอเพียง รวมถึงการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว
ด้าน นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การจัดงาน รักษ์หัวใจ ในวิถีชีวิตครอบครัวไทยที่พอเพียงในวันนี้ เป็นการรณรงค์สร้างกระแสการป้องกัน ควบคุมโรคหัวใจและหลอดเลือด เพื่อให้ประชาชนเข้าใจถึงความรุนแรงของโรค และตระหนักว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้โดยการปรับวิธีการดำเนินชีวิตให้สมดุลซึ่งจะต้องเริ่มต้นที่ครอบครัว และขยายไปยังชุมชนต่อไป
*************************************** 22 เมษายน 2554