ผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 48 เข้ม 4 มาตรการความพร้อมของสถานบริการรับมืออุบัติเหตุและสายด่วน 1669

วันนี้ (13 เมษายน 2554) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  พร้อมด้วย นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและคณะ   เดินทางไปตรวจเยี่ยมจุดตรวจและให้บริการประชาชน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุบนเส้นทางหลวงหลักช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่บริเวณจุดบริการประชาชนศูนย์ส่วนหน้าที่ 2 ถนนมิตรภาพ หลักกิโลเมตรที่ 77-78 อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นเส้นทางที่ประชาชนใช้เดินทางออกเพื่อไปฉลองเทศกาลสงกรานต์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
 
          นายจุรินทร์ ให้สัมภาษณ์ว่าเป้าหมายปีนี้ในช่วง 7 วันอันตราย ต้องการที่จะลดจำนวนอุบัติเหตุและผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต ลงให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ในช่วงสงกรานต์ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ในปีที่ผ่านมา เกิดจากเมาแล้วขับร้อยละ 40 ขับรถเร็วร้อยละ 20 เป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ ในการรณรงค์ลดอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ปีนี้ จึงเน้นการรณรงค์ที่จะไม่ให้เมาแล้วขับ ดื่มไม่ขับ ง่วงไม่ขับ โทรศัพท์ไม่ขับ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ นอกจากนี้เวลาขับและนั่งรถยนต์ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย ขับขี่มอเตอร์ไซด์ต้องสวมหมวกกันน็อค  โดยอุบัติเหตุในปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่เกิดจากมอเตอร์ไซด์ถึงร้อยละ 80
                 
                  
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า สำหรับการรณรงค์ในปีนี้ถือว่าในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 11-12 เมษายน 2554 อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้วถือว่าลดลง โดย จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บวันแรกปี 53 จำนวน 607 ราย ในปีนี้ลดลงเหลือ 400 ราย คิดเป็นร้อยละ 34 ส่วนวันที่ 2 คือวันที่ 12 เมษายน 2553 จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บ 929 ราย ในปีนี้ลดลงเหลือ 576 ราย คิดเป็นร้อยละ 38 ซึ่งถ้าคิดในภาพรวมของ 2 วัน ของการรณรงค์ช่วง 7 วันอันตราย จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บลดลง ถึงร้อยละ 36 ผู้เสียชีวิตลดลงถึงร้อยละ 48 คิดเป็น 1เท่าตัวโดยประมาณ
 
อย่างไรก็ตามในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข จะมุ่งเน้นการดำเนินงาน 3 ส่วนอย่างต่อเนื่อง ประการแรกคือ จะเน้นในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ได้แก่ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งในเรื่อง อายุ สถานที่ และเวลา ประการที่ 2 จะเน้นในเรื่องการป้องกัน คือ การเปิดจุดบริการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในส่วนของจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) ตำรวจ สถาบันการศึกษา มูลนิธิต่างๆ ที่จะมาร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) ในการให้บริการที่จุดบริการร่วมเพื่อดูแลผู้ที่เข้าข่ายและกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ โดยจัดให้มีจุดพัก เช่น ที่จุดปากช่อง เป็นความร่วมมือของหน่วยงานจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตำรวจ กระทรวงสาธารณสุข โดยโรงพยาบาลปากช่องนานา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด วิทยาลัยการอาชีพปากช่อง ได้ร่วมกันเปิดจุดบริการ และการเตรียมทีมแพทย์ พยาบาล กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน บริการน้ำดื่ม อาหาร บริการนวดแผนไทย ในเส้นทางสายหลักทั่วประเทศ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
  
สำหรับการเตรียมความพร้อมรับมืออุบัติเหตุต่างๆ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของกระทรวงสารณสุข มุ่งเน้น 4 เรื่อง ประการที่1 ได้มีการสั่งการให้โรงพยาบาลเตรียมทีมแพทย์ พยาบาล บุคลากร ห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ธนาคารเลือด หอผู้ป่วย พร้อมรับมือตลอด 24 ชั่วโมง ประการที่ 2 สำหรับการให้บริการหมายเลขโทรศัพท์สายด่วน คือ 1669 ได้สั่งการให้มีการประสานงานระบบการสั่งการระหว่างศูนย์สื่อสารสั่งการของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน(สพฉ.) กับโรงพยาบาลให้ประสานงานกันได้ตลอด 24 ชั่วโมง ประการที่ 3 ถ้าเกิดอุบัติเหตุหมู่ ระดับจังหวัดไม่สามารถดูแลได้ ให้มีการประสานงานขอความช่วยเหลือไปยังส่วนกลาง ประการสุดท้ายได้สั่งการให้ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และผู้รับผิดชอบระดับจังหวัด ต้องสรุปรายงานตัวเลขผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิต รวมทั้งรายละเอียดอื่นๆไปยังส่วนกลาง คือ กระทรวงสาธารณสุข ในเวลา 07.00น.ของทุกวัน
        
 ************************************************* 13 เมษายน 2554
 


   
   


View 13    13/04/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ