จากกรณีที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังไม่ได้ดำเนินการจ่ายยาต้านไวรัสเอชไอวีแก่ผู้ป่วย ตามที่กรมควบคุมโรคแนะนำให้เมื่อระดับซีดีโฟร์ต่ำกว่า 350 จากเดิมที่จะให้เมื่อต่ำกว่า 200 นั้น

ในวันนี้ (7 เมษายน 2554) จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้มอบหมายให้เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำเรื่องนี้เข้าสู่ประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาในวันจันทร์ที่ 18 เมษายน 2554 ที่จะถึงนี้ เนื่องจากหากสปสช.ไม่ดำเนินการ ในทางปฏิบัติก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะประชาชนที่ต้องพึ่งพาการรักษาส่วนใหญ่อยู่ในระบบรักษาฟรี 48 ล้านคน ในส่วนกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดมาตรการการรักษาที่เป็นประโยชน์กับผู้ป่วยอย่างดีอยู่แล้ว ถ้าทำตามเกณฑ์ที่ปรับใหม่ก็จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาและได้รับยาเร็วขึ้น
ด้านนายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การให้ยาต้านไวรัสเมื่อระดับซีดีโฟร์ต่ำกว่า 350นั้น เป็นข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกในเชิงวิชาการ ซึ่งประเทศสมาชิกจะนำไปปฏิบัติให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณา ทั้งนี้ในการตัดสินใจเชิงนโยบายในการนำไปปฏิบัติจะต้องมีการพิจารณาด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขร่วมด้วย เมื่อยังไม่มีวัคซีนที่ได้ผล การป้องกันที่ดีที่สุดก็คือการใช้ถุงยางอนามัย และการป้องกันการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ยังคงเป็นมาตรการที่ดีที่สุด
ส่วนด้านการรักษาต้องดูถึงจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด ราคายาที่จะให้ เรื่องเชื้อดื้อยา ค่าใช้จ่ายทางห้องปฏิบัติการในการตรวจติดตาม ซึ่งจะต้องศึกษาข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ให้ครบถ้วนมากที่สุด ซึ่งคณะอนุกรรมการในเรื่องนี้ของสปสช. จะได้ตัดสินใจในเรื่องนี้ต่อไป
นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค เป็นฝ่ายวิชาการที่จะตั้งมาตรฐานการรักษาพยาบาลที่ดีที่สุดแก่ผู้ป่วย แต่ในทางปฏิบัติ แต่ละองค์กรจะดูศักยภาพ ความพร้อมต่างๆ รวมทั้งงบประมาณ ว่าจะสามารถดำเนินการได้เมื่อใด ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางสปสช. ต้องใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาดำเนินการต่อไป
สำหรับข้อกังวลว่าหากได้รับยาเร็วขึ้น เมื่อซีดีโฟร์ต่ำกว่า 350 นั้น นายแพทย์มานิตกล่าวว่า การดื้อยา มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะได้รับยาเมื่อใด ซึ่งการดื้อยาเกิดมาจากหลายสาเหตุ ทั้งจากการบริหารยาที่ไม่ถูกต้อง และจากตัวยาบางชนิด ในปัจจุบันได้มีมาตรการป้องกันการดื้อยาหลายเรื่อง ตั้งแต่การตรวจยีนส์ดื้อยาในผู้ป่วย การให้ยาเมื่อใด จึงไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะทำให้การดื้อยาเกิดมากขึ้นหรือน้อยลง แต่มาจากองค์ประกอบหลายอย่างประกอบกัน
 ********************************** 7 เมษายน 2554
 
 


   
   


View 12    07/04/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ