นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในภาคใต้ ว่า สถานการณ์ล่าสุด เมื่อคืนวันที่ 6 เมษายน 2554 ขณะนี้มีพื้นที่น้ำท่วม 7 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี ตรัง ชุมพร กระบี่ สงขลา  ส่วนใหญ่เริ่มคลี่คลายลง โดยยอดผู้เสียชีวิต สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติรายงานจนถึงเมื่อเวลา 22.00 น. วันที่ 6 เมษายน 2554 รวมทั้งสิ้น 56 ราย ได้แก่ที่นครศรีธรรมราช 25 ราย สุราษฎร์ธานี 10 ราย พัทลุง 6 ราย กระบี่ 10 ราย ตรัง 2 ราย ชุมพร 2 ราย และพังงา 1 ราย สูญหาย 1 ราย 

          ส่วนการดูแลผู้ประสบภัยที่เจ็บป่วย ได้จัดออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการรวม 1,941 ครั้ง มีผู้รับบริการ 79,677 ราย จำนวนนี้พบป่วยเป็นไข้หวัดร้อยละ 45 และเป็นโรคน้ำกัดเท้าร้อยละ 36 สำหรับปัญหาสุขภาพจิต ให้บริการรวม 848 ราย  พบมีความเครียดสูง 68 ราย ซึมเศร้า 103 ราย เสี่ยงฆ่าตัวตาย 56 ราย ซึ่งอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด กระทรวงสาธารณสุขได้จัดส่งยาและเวชภัณฑ์ไปแล้วรวมทั้งหมด 399,000 ชุด ประกอบด้วยยาชุดน้ำท่วมรวม 279,000 ชุด และยารักษาโรคน้ำกัดเท้า 120,000 ชุด
          นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ในด้านการส่งต่อผู้ป่วยหนักและผู้ป่วยฉุกเฉิน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้มีการลำเลียงส่งทางเฮลิคคอปเตอร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  กองทัพอากาศ โรงพยาบาลกรุงเทพ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม –6 เมษายน 2554 รวม 24 ครั้ง  ผู้ป่วย 28 ราย และลำเลียงทางเรือ รวม 550 ครั้ง ประกอบด้วยที่ จ.สุราษฎร์ธานี 200 ครั้ง และที่กระบี่ 350 ครั้ง ส่วนผลกระทบของสถานบริการสาธารณสุข พบถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหายรวม 187 แห่ง ขณะนี้ยังเปิดให้บริการไม่ได้ 17 แห่งอยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีทั้งหมด  โดยเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 16 แห่ง และโรงพยาบาลชุมชน 1 แห่ง คือโรงพยาบาลท่าโรงช้าง ซึ่งคาดว่าจะให้บริการในวันจันทร์นี้ ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างการประเมินความเสียหาย คาดว่าจะได้ผลสรุปในสัปดาห์หน้า เพื่อรายงานคณะรัฐมนตรีต่อไป
          ทางด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ในพื้นที่น้ำท่วมทุกแห่ง ยังไม่มีรายงานโรคระบาด โดยกรมควบคุมโรคได้ส่งทีมควบคุมพาหะนำโรค เช่นแมลงวัน ยุง หนู จากสำนักงานควบคุมโรคประจำจังหวัดสงขลา และนครศรีธรรมราช เข้าไปพื้นที่ที่ระดับน้ำลดแล้ว และจะประเมินความเสี่ยงทั้งหมด เพื่อระดมทีมจากส่วนกลางและภูมิภาคอื่น ร่วมควบคุมป้องกันและกำจัดพาหะนำโรคทั้งหมด ป้องกันปัญหาโรคระบาดตามมา เช่น โรคฉี่หนู โรคอุจจาระร่วง ไข้เลือดออก 
          ************************         7 เมษายน 2554       
 


   
   


View 17    07/04/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ