เข้มบังคับใช้ พรบ.คุมน้ำเมา บอยคอตธุรกิจเหล้าอาศัยจังหวะช่วงเทศกาลขายของ ปรามวัยโจ๋เล่นน้ำท้ายรถกระบะ ปลื้มกว่า 40 จังหวัด กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์เล่นน้ำปลอดเหล้า ลั่นเตรียมขยายครอบคลุมทั่วประเทศ

            วันนี้ (16 มีนาคม 2554) ที่โรงแรมโกเดนท์ ทิวลิป กรุงเทพฯ  ดร.พรรณสิริ  กุลนาถศิริ  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายชนมชื่น บุญญานุสาสน์  รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมเป็นประธานในพิธีประกาศเจตนารมณ์สงกรานต์ปลอดภัย พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้าประจำปี 2554 โดยมีหน่วยงานที่เข้าร่วม ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สมาคมสภาวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรมสรรพสามิต สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และภาคีเครือข่าย กว่า 300 คนเข้าร่วม ทั้งนี้ประธานได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัย ในงานประเพณีสงกรานต์ปลอดเหล้า ประจำปี 2554 กว่า 40 จังหวัด

            ดร.พรรณสิริ  กล่าวว่า เทศกาลสงกรานต์ ถือเป็นช่วงอันตราย เพราะอุบัติเหตุจากการเดินทางและการเล่นน้ำที่ไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีเครื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดความสูญเสีย การขาดสติ และนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะรัฐมนตรี ได้รับทราบถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีและในวันที่ 20 เม.ย. 2553 ได้มีมติสนับสนุนข้อเสนอที่ว่าด้วยการห้ามดื่มห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่เล่นน้ำสาธารณะ รณรงค์เล่นสงกรานต์อย่างปลอดภัย เพื่อลดความสูญเสีย ปกป้องเด็กเยาวชน และวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามให้คงอยู่  ดังนั้นสงกรานต์ปีนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนประเพณีสงกรานต์ปลอดภัย 5 ประการดังนี้

                 

                 

1. ร่วมกันประกาศเป็นนโยบายในการจัดงานประเพณีสงกรานต์ปลอดภัย พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงและสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้แก่ประชาชน 2. ไม่สนับสนุนให้บริษัทเหล้าเบียร์บุหรี่ ทำการโฆษณาสินค้าหรือทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการขายในพื้นที่  จัดงานประเพณีสงกรานต์ 3. ร่วมกันบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 อย่างจริงจังต่อเนื่อง  4.ร่วมกันรณรงค์ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์การเล่นน้ำสงกรานต์อย่างถูกวิธี ตามขนบธรรมเนียมประเพณีไทย โดยคำนึงถึงความปลอดภัยทั้งของตนเองและผู้อื่น อันจะเป็นการปกป้องเด็กเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตสำคัญของประเทศชาติ และ 5. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 และพ.ร.บ.สุรา 2493 อย่างจริงจังต่อเนื่อง โดยทบทวนการออกใบอนุญาตจำหน่ายสุราให้เข้มงวดและเพิ่มโทษผู้กระทำความผิด รวมทั้งการกำหนดมาตรการและแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการเล่นน้ำท้ายรถกระบะที่มีผู้โดยสารจำนวนมากด้วย

                ศ.นพ.อุดมศิลป์  ศรีแสงนาม  ที่ปรึกษาคณะกรรมการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ    กล่าวว่า  ตอนนี้พฤติกรรมการเล่นน้ำสงกรานต์เปลี่ยนไปจากเดิม โดยเฉพาะการนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาดื่มเพื่อเพิ่มความสนุกสนานในการเล่นน้ำ และการเมาแล้วขับยังเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการเกิดอุบัติเหตุ ทำให้ช่วง 7 วันอันตรายในเทศกาลสงกรานต์ปี 2553 มียอดผู้เสียชีวิตมากถึง 361 ราย บาดเจ็บ 3,802 ราย และมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 3,516 ครั้ง ดังนั้น การรณรงค์ให้ประชาชนเล่นน้ำในช่วงสงกรานต์อย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย รวมถึงรณรงค์ให้ทราบถึงกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 จึงเป็นเรื่องสำคัญเพราะที่ผ่านมามีการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ห้ามขาย เช่น ปั๊มน้ำมัน รวมถึงช่วงเวลาที่ห้ามจำหน่าย ซึ่งคงต้องขอความร่วมมือไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดขึ้น เพื่อให้ลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นในช่วงสงกรานต์ โดยเฉพาะการเล่นน้ำท้ายรถกระบะ

            ด้าน ภก.สงกรานต์  ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า จากผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน ในเขต กทม.เกี่ยวกับการท่องเที่ยวช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ในปีที่ผ่านมา พบว่าร้อยละ 87.8อยากให้สนับสนุนเขตเล่นน้ำสงกรานต์สนุกสนาน ปลอดภัย โดยระบุว่า พื้นที่สนุกสนาน ปลอดภัย คือไม่มีคนเมา ไม่มีการลวนลาม อนาจาร โคโยตี้ ไม่มีเรื่องชกต่อยทะเลาะวิวาท ทั้งนี้ร้อยละ 61.2 ยังเห็นว่าหน้าบ้านตัวเองเป็นพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ที่ปลอดภัยที่สุด และในปีนี้มีหลายพื้นที่จัดโซนนิ่ง ให้เป็นพื้นที่เล่นสงกรานต์และห้ามนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไป โดยขยายเพิ่มขึ้นกว่า 40 พื้นที่ทั่วประเทศ ส่งผลให้ลดความรุนแรงและการทะเลาะวิวาทลงได้ สำหรับ 40  พื้นที่ อาทิ นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ขอนแก่น เพชรบูรณ์ อุบลราชธานี ยโสธร นครสวรรค์ พิษณุโลก เชียงใหม่ เป็นต้น
 
           ยอมรับว่าการรณรงค์เพื่อให้งานสงกรานต์ปลอดจากเหล้าเบียร์และปัจจัยต่าง ๆ ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายนัก เนื่องจากธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังใช้โอกาสนี้ส่งเสริมการขาย รวมถึงเจ้าภาพจัดงานยังละเลยปล่อยให้มีการดื่มภายในงาน    ดังนั้นเทศกาลที่ใกล้เข้ามาถึงนี้ คงต้องสร้างวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม   โดยไม่พึ่งแอลกอฮอล์ก็สนุกได้ ที่สำคัญไม่ทำให้สงกรานต์กลายเป็นการสาดเลือดแทนการสาดน้ำ ที่มีสาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ภก.สงกรานต์  กล่าว
 ************************************** 16 มีนาคม 2554


   
   


View 9    16/03/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ