บ่ายวันนี้ (10  มีนาคม  2554)  ที่กระทรวงสาธารณสุข  จ.นนทบุรี นายจุรินทร์   ลักษณวิศิษฏ์   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าของการดำเนินคดีอุ้มบุญว่า วันนี้เป็นการประชุม 11 หน่วยงานที่เคยติดตามคดีอุ้มบุญอย่างต่อเนื่อง โดยความคืบหน้าในเรื่องของการดำเนินคดีในข้อหาค้ามนุษย์และกักขังหน่วงเหนี่ยว ปรากฏว่าคดีนี้อัยการสูงสุดได้ชี้ว่าเป็นคดีนอกราชอาณาจักร เพราะฉะนั้นตามข้อกฎหมายเมื่อเป็นคดีนอกราชอาณาจักร การสอบสวนก็จำเป็นจะต้องมีผู้แทนของอัยการสูงสุดร่วมสอบสวนกับพนักงานสอบสวนคือเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้การดำเนินคดีชอบด้วยกฎหมาย ขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบพยานล่วงหน้า

สำหรับหญิงชาวเวียดนามทั้ง 15 คน วานนี้ (9 มีนาคม 2554) เริ่มสืบพยานหญิงชาวเวียดนามไปได้ 1 คน วันนี้กำลังดำเนินการต่อ คาดว่าจะใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะครบ 15 คน เมื่อครบแล้ว ถ้าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องได้ข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็จะร่วมกับมูลนิธิพิทักษ์สตรี ในการประสานงานกับสถานทูตเวียดนาม เพื่อส่งตัวหญิงชาวเวียดนามทั้งหมดกลับประเทศเวียดนามต่อไป

นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ในส่วนของการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับแพทย์ผู้กระทำการผสมเทียม และสถานพยาบาลที่แพทย์ที่ทำการผสมเทียม กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สอบสวนเบื้องต้นพบว่า มีแพทย์เกี่ยวข้อง 2 ราย กับสถานพยาบาล 2 แห่ง ซึ่งได้ชื่อแพทย์ 2 รายแล้วจากการสอบสวนหญิงชาวเวียดนามโดยการชี้ตัวและจากภาพถ่าย ซึ่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้ส่งเรื่องให้กับแพทยสภาเพื่อดำเนินการสอบสวนตามขั้นตอนต่อไป และแพทยสภามีการประชุมในช่วงบ่ายวันนี้ ถ้าแพทยสภารับเรื่องและเข้าสู่กระบวนการสอบสวนจริยธรรม โดยส่งเรื่องให้อนุกรรมการจริยธรรม สามารถที่จะเปิดเผยแพทย์ที่เกี่ยวข้องได้ ส่วนสถานพยาบาล 2 แห่งที่เกี่ยวข้อง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จะดำเนินการสอบสวนควบคู่กันไป ทั้งนี้ถ้าพบว่าแพทย์ทั้ง 2 รายที่ถูกสอบกระทำผิดจริง ก็จะมีผลต่อสถานพยาบาลที่สังกัดด้วย ที่ปล่อยปละละเลยให้แพทย์กระทำการผิด สถานพยาบาลต้องรับผิดชอบด้วย 

                           

                           

ด้านนายแพทย์สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ในส่วนการสอบสวนสถานพยาบาล จะดำเนินการตามข้อบังคับของ พ.ร.บ.สถานพยาบาล ถ้ากรณีที่แพทย์ทำงานอยู่ในสถานพยาบาล และทำผิดจริยธรรม แสดงว่าตัวผู้ดำเนินการสถานพยาบาลนั้นไม่ได้ควบคุมกำกับ ก็ผิดในมาตรา 34 (2) ที่ปล่อยปละละเลย มีบทลงโทษสถานพยาบาล แม้เป็นกรณีแพทย์ไม่ได้กระทำผิดจริยธรรม หรือข้อบังคับแพทยสภา ก็ยังสามารถดำเนินการกับสถานพยาบาลในข้อหาอื่นได้ ตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล ส่วนแพทย์ที่ดำเนินการจะเข้าข่ายกระทำผิดจริยธรรมของแพทยสภา แพทยสภาจะเป็นผู้ดำเนินการ เช่นตักเตือน พักหรือยึดใบประกอบโรคศิลปะส่วนเรื่องอาญาเป็นเรื่องของตำรวจ เป็นกฎหมายคนละฉบับกัน 

นายแพทย์สมชัยกล่าวอีกว่า ในเรื่องเวลาสอบต้องร่วมกับอัยการ จะทำเหมือนคดีทั่วไปไม่ได้ จึงต้องตั้งผู้แทนร่วมกับพนักงานสอบสวนด้วย และเมื่อเป็นคดีนอกราชอาณาจักร เรื่องการสืบพยานล่วงหน้าต้องทำในศาล ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง ต้องใช้เวลาพอสมควร และต้องใช้เวลาแปลภาษาไทย-เวียดนามด้วย ซึ่งมีแนวโน้มว่าหญิงชาวเวียดนาม 2 คน อาจจะคลอดกลางเดือนเมษายนนี้ โดยคนที่สอบเสร็จแล้วจะส่งกลับไปก่อน และได้มีการสอบถึงสถานที่ของผู้ดำเนินการ รวมทั้งแพทย์ในเรื่องของการบริการ และทันทีที่แพทยสภารับเรื่องเข้าไป ก็สามารถเปิดเผยชื่อสถานพยาบาลได้ โดยบทลงโทษสถานพยาบาลที่ไม่ได้ตามมาตรฐาน จะมีความผิดตามมาตรา 34 ตามพ.ร.บ.สถานพยาบาล มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท

 **************************    10 มีนาคม 2554



   
   


View 11    10/03/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ