รณรงค์ให้ความรู้ประชาชนป้องกันเนื่องในวันไตโลก  

กระทรวงสาธารณสุข จัดกิจกรรมให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรคไต ให้ลดกินเค็มครึ่งหนึ่ง ในโรงพยาบาลในสังกัด 900 แห่งทั่วประเทศ เนื่องในวันไตโลก เริ่ม 6-12 มีนาคม 2554 เผยขณะนี้มีคนไทยป่วยไตวายเรื้อระยะสุดท้ายกว่า 30,000 ราย แนวโน้มเพิ่มขึ้นจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง พร้อมเปิดรับบริจาคไต 840 ไต เพื่อผ่าตัดเปลี่ยนให้ผู้ที่มีปัญหาไตวาย ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ 

          นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า เนื่องในวันไตโลกปีนี้ ซึ่งตรงกับวันที่ 10 มีนาคม 2554 กระทรวงสาธารณสุขได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันไตโลก (World kidney day) ในโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศจำนวน 900 แห่ง ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคไต โดยเฉพาะเรื่องพฤติกรรมการกินอาหารรสเค็ม โดยจะเริ่มให้บริการพร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 6-12 มีนาคม 2554 

นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า ประการสำคัญ ในช่วงจัดกิจกรรมในปีนี้ จะรณรงค์ให้ประชาชนบริจาคไตให้ได้ 840 ไต เพื่อนำไปผ่าตัดปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ให้มีคุณภาพชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554 ประชาชนที่มีความประสงค์บริจาค สามารถแจ้งได้ที่โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ  

นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ปัจจุบันโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย กำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในประเทศไทยและทั่วโลก จากสถิติของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยปี 2551 พบผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย 31,496 ราย และพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มปีละ 400 ราย ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคไตวาย มี 4 กลุ่มได้แก่ 1.ผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง เช่นติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะซ้ำซาก เป็นนิ่วในไต หรือไตพิการเป็นถุงน้ำ 2.ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 4 โรคได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคเกาต์ และโรคเอสแอลอี 3.การกินยาบางชนิด เช่น ยาเฟนาติซิน เฟนิลบิวตาโซน และ 4.ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จากไตเสื่อมตามอายุขัย

แต่สาเหตุหลักที่ทำให้ประชาชนป่วยเป็นโรคไตวายเพิ่มขึ้นในขณะนี้ ประมาณร้อยละ 80 ก็คือโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งทั้ง 2 โรคทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไตตีบแข็ง ทำให้ไตเสื่อม ไม่สามารถกรองของเสียออกจากร่างกายได้ โดยผลการคัดกรองโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงในปี 2552 พบมีผู้ป่วยโรคเบาหวาน 1.4 ล้านคน ในจำนวนนี้มีปัญหาไตวาย 20,000 คน พบผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง 2 ล้านคน และมีปัญหาไตวาย 18,000 คน ทั้งนี้ ปัจจุบันคนไทยกินหวานถึงวันละ 20ช้อนชาต่อวัน ไขมัน 12ช้อนชาต่อวัน และเกลือ 2ช้อนชาต่อวันซึ่งสูงกว่ามาตรฐานโลกที่กำหนดไว้คือวันละ 6 กรัม หรือ 1 ช้อนชา แนะนำให้ลดลงเหลือ 6:6:1คือ กินน้ำตาล 6ช้อนชาต่อวันกินไขมัน 6ช้อนชาต่อวันและเกลือ 1ช้อนชาต่อวัน  

สำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่ได้ผลที่สุดต้องใช้วิธีการผ่าตัดปลูกถ่ายไต แต่ปัญหาที่ประสบทั่วโลกคือการขาดแคลนผู้บริจาคไต ซึ่งแต่ละปีมีผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไตปีละประมาณ 300 รายเท่านั้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงต้องใช้วิธีการรักษาชะลอการเสื่อมไต โดยใช้วิธีการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และฟอกของเสียออกทางน้ำยาผ่านทางช่องท้อง เสียค่าใช้จ่ายครั้งละ 1,500 – 2,000 บาทต่อคน รวมค่าใช้จ่ายปีละประมาณ 6,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากหากไม่เร่งแก้ไขป้องกันจะทำให้จำนวนผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อย ๆ และค่าใช้จ่ายการรักษาจะเพิ่มขึ้น                                                                           

ด้านศาสตราจารย์นายแพทย์สุพัฒน์ วานิชยการ เลขาธิการมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการจัดกิจกรรมวันไตโลกว่า ในปีนี้ประเทศไทยจัดกิจกรรมวันไตโลก จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 6-12 มีนาคม 2554 และในวันที่ 6 มีนาคม 2554 จะมีการจัดงานใหญ่ที่บริเวณหอนาฬิกา สวนสาธารณสาธารณะสวนจตุจักร กรุงเทพมหานคร ในเวลา 6.00น.-17.00 น. ภายใต้แนวคิด “ลดเค็มครึ่งหนึ่งไม่ต้องพึ่งไตเทียม” กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การเดิน – วิ่งเทิดพระเกียรติ การบรรยายเกี่ยวกับโรคไต นิทรรศการให้ความรู้ประชาชน เน้นการปรับพฤติกรรมการกินให้ลดเค็มครึ่งหนึ่ง ซุ้มอาหารสุขภาพสำหรับผู้ป่วยโรคไต การตรวจคัดกรองโรคไต ซุ้มรับบริจาคอวัยวะ และการแสดงบนเวทีจากศิลปิน เช่น ป้อม ออโตบาห์น, บีม ดีทูบี, แพนเค้ก เขมนิจ,  คิมเบอร์ลี่จากละครธาราหิมาลัย และบัว สโรชา เป็นต้น

**************************   4 มีนาคม 2554



   
   


View 10       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ