พร้อมส่งตัวหญิงเวียดนามที่ตั้งครรภ์เข้ารับการดูแลครรภ์ที่รพ.นพรัตน์ราชธานี และนัดหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาวิธีดูแลหญิงเวียดนามที่รับจ้างอุ้มบุญวันจันทร์หน้า

          วันนี้ (25 กุมภาพันธ์ 2554) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับผลการประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ด้วยวิธีอุ้มบุญ ว่า วันนี้ได้หารือผู้แทนจาก 9 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยผู้แทนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งรับผิดชอบดูแลสถานพยาบาล ผู้แทนแพทยสภา โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย สำนักตรวจคนเข้าเมือง รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) มูลนิธิพิทักษ์สตรี และสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านเกร็ดตระการ
           ข้อเท็จจริงเบื้องต้น ได้ไปพบกับสตรีชาวเวียดนามในขบวนการอุ้มบุญ ที่เพิ่งคลอดบุตรได้ 3-4 วัน ที่โรงพยาบาลเสรีรักษ์ กทม. และขณะนี้ได้ขอให้โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี เข้าไปดูแลสตรีเวียดนาม 7 คน พบว่าคลอดบุตรแล้ว 1 คน และอีก 6 คนกำลังตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 6-8 เดือน โดย 4 คนยอมตรวจสุขภาพครรภ์กับโรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี ในจำนวนนี้ขอยุติการตั้งครรภ์ 2 คน อ้างว่าถูกข่มขืน โดยรายแรกอายุครรภ์ 18 สัปดาห์ รายที่สองอายุครรภ์ 20 สัปดาห์และเป็นครรภ์แฝด
                      
                      
 นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า ข้อสรุปของที่ประชุมในวันนี้ ได้แก่ 1.บริษัทค้ามนุษย์ข้ามชาติดังกล่าว จะถูกดำเนินคดีใน 2 ข้อหาหลักคือ ข้อหาค้ามนุษย์ และข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยว 2.สถานพยาบาลที่ทำการผสมเทียมร่วมกับบุคลากรที่ทำการผสมเทียม ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบว่าเป็นใคร เป็นแพทย์หรือไม่ จะต้องมีการตรวจสอบและดำเนินการตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล และข้อบังคับของแพทยสภาว่าด้วยการผสมเทียม ว่าเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพที่แพทยสภากำหนดหรือไม่ และ3.กลุ่มหญิงชาวเวียดนามที่ประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้ มี 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ไม่ประสงค์จะยุติการตั้งครรภ์ และกลุ่มที่ประสงค์จะยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งสำหรับกลุ่มที่ประสงค์จะยุติการตั้งครรภ์นั้นจะหารือกันต่อไปว่าสามารถทำได้หรือไม่ เข้าหลักเกณฑ์ตามกฎหมายไทยหรือไม่ เป็นไปตามเกณฑ์ที่แพทยสภากำหนดหรือไม่ และเข้าตามมาตรฐานเกณฑ์ทางการแพทย์ที่จะอนุญาตให้ดำเนินการได้หรือไม่ ซึ่งจะได้มีการหารือในรายละเอียดต่อไป
 อย่างไรก็ตาม ในวันจันทร์หน้า (28 กุมภาพันธ์ 2554) จะได้มีการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กระทรวงการต่างประเทศ และสถานทูตเวียดนามอีกครั้ง เพื่อพิจารณาในรายละเอียดว่าจะดำเนินการกับหญิงเวียดนามทั้ง 2 กลุ่มนี้ต่อไปอย่างไร ให้มีความเหมาะสมที่สุดกับสถานการณ์ว่าจะดูแลหญิงชาวเวียดนามทั้งหมดว่าจะดูแลลักษณะใด อย่างไร เช่นหากประสงค์จะอยู่ประเทศไทยจะดำเนินการอย่างไร หรือหากประสงค์จะกลับประเทศเวียดนาม สถานทูตและกระทรวงการต่างประเทศ จะร่วมกันดำเนินการอย่างไร เนื่องจากประเทศไทยและเวียดนามมีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ในการขจัดการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรี เด็ก และการช่วยเหลือเหยื่อจากการค้ามนุษย์ คาดว่าจะได้คำตอบในเบื้องต้น
                       
 
สำหรับสตรีชาวเวียดนามที่รับจ้างอุ้มบุญ ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่จะเข้าไปดูแลหรือเอาผิดใดๆ ได้ เพราะมีแต่กฎหมายที่จะเอาผิดกับบริษัทค้ามนุษย์ข้ามชาติ และสถานพยาบาลถ้าทำการผสมเทียมผิดกฎหมาย ผิดข้อบังคับแพทยสภา แต่มีพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. ... ซึ่งผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้วและอยู่ในขั้นตอนกฤษฎีกา ยังไม่มีผลบังคับใช้ในขณะนี้
           นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปอีกว่า แพทยสภาได้กำหนดเกณฑ์กรณีผสมเทียมจะต้องมี 4 ข้อ คือ 1.ต้องทำโดยแพทย์ที่มีหนังสือรับรองจากราชวิทยาลัยสูตินรีเวชแห่งประเทศไทย 2.คู่สมรสต้องยินยอมโดยใช้เชื้อหรือเซลล์ของคู่สมรสเท่านั้น 3.หญิงที่ตั้งครรภ์แทนต้องเป็นญาติโดยสายเลือดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และ4.ต้องไม่มีค่าตอบแทนใดๆ กรณีอุ้มบุญที่เกิดขึ้นเบื้องต้นเห็นได้ชัดเจนว่า ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ โดยเป็นการรับจ้างที่มีค่าตอบแทน เช่น ในกรณีหญิงเวียดนามที่ไปคลอดที่โรงพยาบาลเสรีรักษ์ยอมรับว่าได้รับค่าตอบแทน และหญิงอีกกลุ่มหนึ่งที่อ้างว่าถูกบังคับกักขังหน่วงเหนี่ยวให้กระทำ จึงไม่ได้เป็นไปด้วยความยินยอม
                      
           ด้านศาสตราจารย์ นายแพทย์สมบูรณ์ คุณาธิคม ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การตั้งครรภ์แทนในปัจจุบันตามประกาศแพทยสภาอนุญาตให้ทำได้ ในกรณีคู่สามีภรรยาที่ฝ่ายหญิงไม่สามารถตั้งครรภ์เองได้ เช่น ถูกตัดมดลูกไปแล้ว มดลูกผิดปกติไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ แต่หญิงที่มารับตั้งครรภ์แทนต้องเป็นญาติโดยสายเลือด เช่น เป็นน้องสาว พี่สาวของคู่สมรส การพิสูจน์ในกรณีปกติทั่วไปทำได้ไม่ยาก เพราะเจ้าของไข่และอสุจิเป็นคู่สามีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย นำมาผสมข้างนอก แล้วนำตัวอ่อนไปฝังในมดลูกหญิงที่มาตั้งครรภ์แทน แต่กฎหมายในปัจจุบันหญิงที่คลอดจะเป็นแม่ เจ้าของไข่และเชื้ออสุจิต้องไปรับลูกตัวเองมาเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งจะมีปัญหาต่างๆ และผลกระทบทางจิตใจของเด็กตามมา สำหรับพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. ... จะกำหนดไว้แต่แรกว่าเด็กที่เกิดมาจะต้องเป็นลูกของเจ้าของพันธุกรรม คือพ่อแม่ที่เป็นเจ้าของไข่และอสุจิโดยตรง
           ศ.นพ.สมบูรณ์กล่าวต่อว่า สำหรับเทคนิคการช่วยการเจริญพันธุ์หรือการอุ้มบุญนั้น สามารถทำได้ทั้งในคลินิกและในโรงพยาบาล โดยสถานที่ให้บริการจะต้องขอใบรับรองจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งจะส่งแพทย์ 3 ท่านไปตรวจสอบความพร้อม เช่น การเจาะเก็บไข่ ห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงตัวอ่อน อุปกรณ์สำหรับการแช่แข็งตัวอ่อน จะต้องมีอย่างครบถ้วน และทำได้เฉพาะสูตินรีแพทย์ตามประกาศแพทยสภาเท่านั้น
 ******************************* 25 กุมภาพันธ์ 2554


   
   


View 5       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ