โรงพยาบาลสมุทรปราการ รับตัวนางสาวระพี ทิมทอง อายุ 63 ปี อยู่ที่ต.เทพารักษ์ จ.สมุทรปราการ น้ำหนักตัว 260 กิโลกรัม เข้ารักษาในโรงพยาบาลแล้ว ขณะนี้ทีมแพทย์ดูแลอาการหายใจเหนื่อยหอบ เนื่องจากน้ำหนักตัวมาก ชั่งน้ำหนักในวันนี้ได้ 180 กิโลกรัม หากอาการดีขึ้นวางแผนส่งรักษาโรคอ้วนที่โรงพยาบาลราชวิถี ย้ำเตือนคนป่วยเบาหวาน ความดันสูง โรคหัวใจ ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำแพทย์เคร่งครัด หากทำได้ดีอาจไม่ต้องพึ่งยาคุมอาการหรือใช้น้อยที่สุด

จากกรณีที่ นางสาวระพี ทิมทอง อายุ 63 ปี อยู่บ้านเลขที่ 7/485 หมู่บ้านร่มโพธิ์ 2 หมู่ 7 ตำบลเทพารักษ์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ต้องการความช่วยเหลือเนื่องจากอ้วนมีน้ำหนักตัว 260 กิโลกรัม โดยผู้ป่วยรายนี้อาศัยอยู่กับลูกชาย แต่รายได้ไม่เพียงพอ นอกจากป่วยเป็นโรคอ้วนผิดปกติแล้ว ยังเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูงมากกว่า 13 ปี
ความคืบหน้าในการช่วยเหลือหญิงรายดังกล่าว นายแพทย์สัมพันธ์ คมฤทธิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรปราการ ให้สัมภาษณ์ว่า ในบ่ายวันนี้ (27 มกราคม 2554) โรงพยาบาลสมุทรปราการได้รถพยาบาลฉุกเฉินไปรับตัวน.ส.ระพีมานอนพักรักษาตัวที่ห้องพิเศษ เนื่องจากเป็นผู้ป่วยในโครงการรักษาฟรี 48 ล้านคนและรับการรักษาโรคประจำตัวที่โรงพยาบาลสมุทรปราการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบันอยู่แล้ว
นายแพทย์สัมพันธ์กล่าวต่อว่า ได้ชั่งน้ำหนักปรากฏว่าหนัก 180 กิโลกรัม ไม่ใช่ 260 กิโลกรัมตามที่เป็นข่าว โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรมดูแล ขณะนี้ผู้ป่วยมีปัญหาเหนื่อยหอบ ได้ให้ดมออกซิเจนรักษาอาการ ยังเดินไม่ค่อยได้เนื่องจากข้อเข่ามีปัญหาเพราะรับน้ำหนักตัวมาก ส่วนระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับควบคุมได้ ความดันโลหิตปกติ ซึ่งเหตุที่ทำให้อ้วนเนื่องจากไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินได้ น้ำหนักตัวขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 3 กิโลกรัม ทีมแพทย์ได้วางแผนรักษาอาการหอบเหนื่อยให้คงที่ หากอาการไม่เปลี่ยนแปลงวางแผนจะส่งตัวไปรักษาโรคอ้วนที่โรงพยาบาลราชวิถีต่อไป คาดว่าอาจจะในสัปดาห์หน้า
“โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ เป็นโรคเรื้อรัง มีสาเหตุจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน รักษาไม่หายขาด จึงอยากย้ำเตือนประชาชนที่ป่วยเป็นโรคดังกล่าว ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะในการรักษาจะต้องดำเนินการควบคู่กัน หลักการรักษาโดยทั่วไปจะเน้น 3 เรื่อง ได้แก่ การออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญพลังงานส่วนเกิน ปรับพฤติกรรมการกิน เน้นผัก ผลไม้ไม่หวาน ลดอาหารหวาน มัน เค็ม และการควบคุมโดยยา หากผู้ป่วยให้ความร่วมมือกับแพทย์สามารถควบคุมน้ำหนักตัว ออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง ก็อาจจะไม่ต้องใช้ยาในการควบคุม หรือใช้น้อยที่สุด แต่ที่ผ่านมาการรักษามักไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เนื่องจากผู้ป่วยให้ความร่วมมือน้อย เพราะไม่ตระหนักถึงความสำคัญในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง จึงทำให้ไม่สามารถคุมอาการได้ โรคลุกลามรุนแรงขึ้น มีโรคใหม่เพิ่มตามมาอีกหลายโรค เช่นโรคไต ต้อกระจก อัมพฤกษ์อัมพาต หัวใจวายได้” นายแพทย์สัมพันธ์กล่าว
*************************** 27 มกราคม 2554
         


   
   


View 11    27/01/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ