รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำชับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ออกเดินสายตรวจสอบ ผู้ประกอบการ ร้านค้าให้ปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ผลการตรวจรอบ 3 วัน พบผู้กระทำผิด 25 ราย ส่วนใหญ่โฆษณา ขายเหล้าให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี พร้อมขอความร่วมมือประชาชนร่วมแจ้งเบาะแส ถ้าพบเห็นผู้กระทำผิด ขอให้โทรแจ้งเจ้าหน้าที่หมายเลข 0 2590 3342 ตลอด 24 ชั่วโมง ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่าจากการประเมินสาเหตุของการบาดเจ็บในช่วงวันหยุดฉลองเทศกาลปีใหม่ พบว่าอันดับ 1 เกิดมาจากเมาแล้วขับประมาณ 1 ใน 3 ของสาเหตุทั้งหมด กระทรวงสาธารณสุขได้กำชับสั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานงานควบคุมป้องกันโรคประจำเขต 12 จังหวัดทั่วประเทศ ออกตรวจสอบควบคุมให้ผู้ประกอบการ ร้านค้าในพื้นที่ ให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 อย่างเคร่งครัด โดยตลอด 7 วันอันตรายตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2553 -4 มกราคม 2554 ได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่ นิติกรจากสำนักควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค เดินสายไปตรวจจับที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือด้วย ขณะเดียวกันได้เปิดศูนย์รับแจ้งเบาะแสผู้กระทำผิดกฎหมาย ที่หมายเลข 0 2590 3342 ตลอด 24 ชั่วโมง ดร.พรรณสิริกล่าวว่า ผลการดำเนินการ ในรอบ 3 วันมานี้ ได้รับรายงานมีประชาชนโทรแจ้งผู้กระทำผิดที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนจำนวน 5 ราย โดย 3 ราย แอบขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาห้ามขาย อีก 2 ราย ขายให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ได้ประสานเจ้าหน้าที่ดำเนินการแล้ว ส่วนผลการออกตรวจร้านค้าที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วประเทศ ในรอบ 3 วันนี้ ได้รับรายงานเบื้องต้นเฉพาะที่เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตรวจไปแล้ว 33 ราย พบผู้กระทำผิด 25 ราย ส่วนใหญ่โฆษณา และขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ดร.พรรณสิริกล่าวต่อว่า กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 กำหนดสถานที่ห้ามขายและห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ ปั้มน้ำมัน สถานบริการสาธารณสุข ร้านขายยา สถานที่ราชการ สถานศึกษา ศาสนสถาน สวนสาธารณะของทางราชการ หอพัก กำหนดเวลาที่ขายได้ 2 ช่วงเวลา คือเวลา 11.00 น.-14.00 น. และเวลา 17.00 น.- 24.00 น. ห้ามเร่ขายหรือโฆษณาส่งเสริมการขายต่างๆ ห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และผู้ที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้ หากพบให้ดำเนินการลงโทษทันที เนื่องจากได้ประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนมาตลอดก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุทางถนนจากเมาแล้วขับ เพิ่มความปลอดภัยแก่ประชาชนที่เดินทางไปฉลองเทศกาลปีใหม่ และประการสำคัญที่สุดผู้ที่ดื่มสุราแล้ว ควรอยู่ที่บ้าน ไม่ควรออกไปขับรถ สำหรับโทษการกระทำผิด หากขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ห้ามขาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากขายในเวลาห้ามขาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และผู้ที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทางด้านนายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กล่าวว่า ตามกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 กำหนดห้ามขายห้ามดื่มในอุทยานแห่งชาติด้วย เนื่องจากจัดเป็นสถานที่ราชการ และบางพื้นที่ในอุทยานแห่งชาติ เข้าข่ายเป็นสวนสาธารณะของทางราชการด้วย ซึ่งปีใหม่ประชาชนนิยมไปเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าวมากเช่นกัน หากมีการฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกและปรับ 2 เด้ง คือตามพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ โทษจำคุก 1 เดือน ปรับ 1,000 บาท และโทษจากพ.ร.บ.เหล้า 2551 มีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ****************** 1 มกราคม 2554


   
   


View 9    01/01/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ