และเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงผู้บาดเจ็บพื้นที่ห่างไกลกว่า 100 ลำ ประชาชนขอความช่วยเหลือได้ทางหมายเลข 1669  ตลอด 24 ชั่วโมง ฟรี

วันนี้ (27 ธันวาคม 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ   รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข  นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์ชาตรี เจริญชีวกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ร่วมกันแถลงข่าว การเตรียมการรองรับอุบัติเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่ 2554 ของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมมอบโล่ขอบคุณแก่นายรัชชานนท์ สุขประกอบ พรีเซ็นเตอร์รณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุทางถนนของกระทรวงสาธารณสุข และปล่อยขบวนรถพยาบาลกู้ชีพฉุกเฉิน จำนวนกว่า 50 คัน พร้อมเฮลิคอปเตอร์กู้ชีพทางอากาศยานของโรงพยาบาลกรุงเทพที่บริเวณหน้าอาคารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อแสดงความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ ให้ประชาชนเกิดความสบายใจลดความกังวลขณะเดินทาง
 
          นายจุรินทร์กล่าวว่า เทศกาลปีใหม่ปี 2554 ที่กำลังจะมาถึงนี้ ช่วงที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือช่วง 7 วันอันตราย ข้อมูลในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2552 พบว่า มีผู้บาดเจ็บ 4,107 ราย เสียชีวิต 367 ราย ส่วนปี 2553 มีผู้บาดเจ็บ 3,827 ราย เสียชีวิต 347 ราย สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุที่พบมากที่สุด คือขับขี่มอเตอร์ไซค์โดยไม่สวมหมวกกันน็อค ไม่คาดเข็มขัดนิรภัยขณะขับรถยนต์ รวมกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนขับขี่ หรือขับรถเร็ว เพื่อให้จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตลดลงกว่าปีที่ผ่านมา ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้โรงพยาบาลในสังกัดทั้ง 875 แห่ง เตรียมความพร้อมรับมือตลอดช่วงเทศกาลปีใหม่ ทั้งศูนย์รับแจ้งเหตุ 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง โดยรถพยาบาลหน่วยกู้ชีพฉุกเฉินจะไปถึงที่เกิดเหตุภายใน 10 นาทีหลังรับแจ้งเหตุให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70
                 
                 
 
นอกจากนั้นให้โรงพยาบาลทุกแห่ง เตรียมพร้อมทีมกู้ชีพฉุกเฉินที่มี 7,860 หน่วย ประกอบด้วยระดับสูงจำนวน 994 หน่วย   ระดับต้น 1,307 หน่วย และหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้น 5,559 หน่วย มีบุคลากรกู้ชีพทั้งสิ้น 107,205 คน ประกอบด้วย ทีมระดับเบื้องต้น (FR) 83,584 คน เวชกรฉุกเฉินขั้นต้น (EMT-B) 4,516 คน พยาบาล 18,899 คน และแพทย์เฉพาะทางการแพทย์ฉุกเฉิน 206 คน รวมทั้งเตรียมความพร้อมรถปฏิบัติการกู้ชีพฉุกเฉินจำนวน 10,282 คัน และเฮลิคอปเตอร์ปฏิบัติการกู้ชีพฉุกเฉิน ซึ่งมีประมาณ 100 ลำกระจายอยู่ในจุดเสี่ยงทั่วประเทศ ซึ่งได้ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับกองทัพ ตำรวจ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่ากระทรวงสาธารณสุขสามารถขอใช้บริการได้ทันที โดย 1669 จะเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจและประสานงาน
 
ส่วนด้านการรักษาพยาบาล ได้เตรียมความพร้อมของห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน (ER) ห้องผ่าตัด (OR) หอผู้ป่วยหนัก (ICU) และหอผู้ป่วย ให้มีแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางอยู่ประจำห้องฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งให้สำรองเลือดไว้ให้เพียงพอ
  
  
 
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า อยากฝากเตือนประชาชนในเรื่องการดูแลทั้งรถและคน เชื่อว่าในช่วงวันหยุดนี้น่าจะมีการเช่าเหมารถบัสโดยสาร หรือรถตู้ เพื่อเดินทางไปต่างจังหวัดกันมาก เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา มีอุบัติเหตุที่คาดว่าสาเหตุหนึ่งอาจเกิดจากรถ เช่นอุบัติเหตุรถทัวร์นำเที่ยวชาวไทยที่ประเทศมาเลเซีย และรถทัวร์นำเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลอุดรธานีไปศึกษาดูงาน ประสบอุบัติเหตุที่ดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย ในการเช่ารถขอแนะนำว่า 1.ให้เลือกเช่ารถที่มีอุปกรณ์ความปลอดภัยครบถ้วน เช่น เข็มขัดนิรภัย มีฆ้อนทุบกระจก ถังดับเพลิง และควรตรวจสอบว่าประตูฉุกเฉินใช้การได้ดี รวมทั้งมีการต่ออายุ พ.ร.บ.ประกันภัย กรมธรรม์ประกันภัย 2.มีการตรวจสภาพรถ เช่นเบรก และยางรถ เป็นต้น 3.ต้องมั่นใจว่าพนักงานขับรถ มีการพักผ่อนอย่างเพียงพอก่อนการเดินทาง รวมทั้งไม่ดื่มสุราทั้งก่อนและระหว่างเดินทาง เป็นผู้ที่คุ้นเคยกับเส้นทาง ไม่ขับรถเร็ว ไม่ขับรถผิดกฎจราจร และเลือกเส้นทางที่ปลอดภัยที่สุด โดยเฉพาะการเดินทางผ่านที่สูงชัน ซึ่งได้รับรายงานจากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ว่าอุบัติเหตุที่ดอยแม่สลอง ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากเลือกใช้เส้นทางที่ไม่อนุญาตให้ใช้แล้ว
 
4.การปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย เช่น ถ้าเดินทาง ในระยะทางที่มากกว่า 400 กิโลเมตร บริษัทหรือเจ้าของรถ จะต้องจัดหาพนักงานขับรถ 2 คน ซึ่งกฎหมายกำหนดให้พนักงานขับรถปฏิบัติหน้าที่ขับรถในรอบ 24 ชั่วโมง ห้ามขับรถติดต่อกันเกิน 4 ชั่วโมง ยกเว้นได้พักแล้วอย่างน้อย 30 นาที ให้ขับรถได้อีก 4 ชั่วโมงติดต่อกัน กรณีรถโดยสารประจำทาง ที่ต้องขับทางไกล ระยะทางเกิน 400 กิโลเมตร กำหนดให้มีพนักงานขับรถ 2 คน 5.หมั่นสังเกตกิริยาอาการของคนขับรถ ว่าอยู่ในสภาพที่พร้อมจะขับขี่ หากพบว่า มีสัญญาณการเหยียบเบรกบ่อยๆ นั่งนิ่งนานๆ หาวบ่อยๆ ควรพักรถหรือเปลี่ยนผู้ขับรถ เพราะมีข้อมูลว่าการเสียสมาธิ วูบ หรือหลับใน แม้ระยะเพียง 3-4 วินาที ขับด้วยความเร็วที่ 100 กิโลเมตร/ชม. ก็ทำให้รถวิ่งโดยปราศจากการควบคุมไปกว่า 100 เมตร    
 
ขอย้ำเตือนผู้ขับขี่ ว่าอย่ารับประทานยาที่ทำให้ง่วงนอน เช่น ยาแก้แพ้ แก้หวัด การคลายเครียด ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้ไอ เป็นต้น ส่วนผู้โดยสารรถสาธารณะหากเห็นผู้ขับง่วงนอน ขอให้พร้อมใจกันบอกคนขับให้พักรถ อย่าเกรงใจ เพราะอาจเกิดอันตรายได้ นายจุรินทร์กล่าว
  
 
ด้าน ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้เป็นต้นแบบรณรงค์ให้รถมอเตอร์ไซค์ สวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ เปิดสถานีวินมอเตอร์ไซค์น้ำใจงามที่กรมควบคุมโรค สวมหมวกกันน็อคทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร และจะขยายไปทุกจังหวัดทั่วประเทศต่อไป   
 
ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากรายงานการให้ความช่วยเหลือของชุดปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินในปี 2553 พบว่าสามารถให้ความช่วยเหลือและนำส่งผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนน และรอดชีวิตได้ร้อยละ 96.28 ในขณะที่สัดส่วนของการได้รับการช่วยเหลือจากชุดปฏิบัติการฉุกเฉินมีเพียงประมาณร้อยละ 30 ของกลุ่มผู้ได้รับบาดเจ็บที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลทั้งหมดเท่านั้น
 
ทางด้านนายแพทย์ชาตรี เจริญชีวกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า รถพยาบาลกู้ชีพฉุกเฉินจะมาจาก 3 ส่วน คือ กระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมูลนิธิต่าง ๆ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ได้ตรวจสอบพบว่าทางหลวงมีจุดเสี่ยง 68 เส้นทาง 144 จุดได้จัดรถพยาบาลไปประจำอยู่ใกล้ 144 จุดดังกล่าว หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นจะช่วยให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างรวดเร็ว สำหรับเฮลิคอปเตอร์ จะใช้ในกรณีมีข้อบ่งชี้ เช่น ระยะทางไกล ทุรกันดาร ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาด่วน ซึ่งอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์
********************************** 27 ธันวาคม 2553               


   
   


View 12    27/12/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ