สาธารณสุข ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เร่งตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ทั้งกลุ่มที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติแล้วและกลุ่มผู้รอการพิสูจน์สัญชาติ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 เพื่อป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรคสู่คนไทย โดยให้แรงงานต่างด้าวทุกคนทำประกันสุขภาพ 1,300 บาทและตรวจสุขภาพ 600 บาทต่อราย พร้อมเตรียมศึกษาการปรับระบบประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวและสิทธิการดูแลรักษาในอัตราที่เหมาะสมในปี 2555 นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการดำเนินการด้านสาธารณสุขในแรงงานต่างด้าว ว่า ปัจจุบันมีประชากรต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยจำนวนกว่า 1 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นพม่า และอยู่ในสถานะรอพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข มีหน้าที่ต้องดูแลรับผิดชอบสุขภาพของแรงงานกลุ่มนี้ วัตถุประสงค์ใหญ่คือการควบคุมป้องกันโรคติดต่อที่แฝงมากับแรงงานเหล่านี้ ไม่ให้แพร่ระบาดมาสู่คนไทย ในการนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งคณะกรรมการอำนวยการดำเนินงานด้านสาธารณสุขในแรงงานต่างด้าว 1 ชุด มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน คณะกรรมการประกอบด้วย อธิบดีกรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ กรมอนามัย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักการแพทย์และสำนักอนามัยกทม. นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตากและจังหวัดสมุทรสาคร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลระนอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีวิชัย 5 สมุทรสาคร เพื่อกำหนดนโยบายการดำเนินงานสาธารณสุขในแรงงานต่างด้าวตามนโยบายรัฐบาล และจัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริการสาธารณสุขในแรงงานต่างด้าว นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ผลการประชุมคณะกรรมการฯได้กำหนดมาตรการในปี 2554 ได้ออกประกาศให้แรงงานต่างด้าวทุกคน ทั้งที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติแล้วและผู้ที่รอพิสูจน์สัญชาติที่ใบอนุญาตทำงานจะสิ้นสุดในวันที่ 20 มกราคม 2554 และ 28 กุมภาพันธ์ 2554 จะต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพก่อนที่จะยื่นขอใบอนุญาตทำงานในปี 2554 โดยให้ตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพที่สถานบริการเดียวกัน ซึ่งในปี 2554 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้แรงงานต่างด้าวซื้อประกันสุขภาพในราคารายละ 1,300 บาทเป็นเวลา 1 ปี โดยต้องเสียค่าตรวจสุขภาพเช่นเอ็กซเรย์ปอด ตรวจเลือด ตรวจเสมหะ ตรวจปัสสาวะ รายละ 600 บาท ทั้งนี้ได้ส่งหนังสือชี้แจงแนวทางการดำเนินงานไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแล้ว และให้ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังปลัดกระทรวงแรงงานฯ และผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตามแนวทางดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขคำนึงถึงประโยชน์ในการป้องกันควบคุมโรคติดต่อ ทั้งต่อตัวแรงงานต่างด้าวและประชาชนไทย โดยหากตรวจพบว่าแรงงานต่างด้าวป่วยเป็นโรคที่จะต้องควบคุม ได้แก่ วัณโรค โรคเรื้อน โรคเท้าช้าง ซิฟิลิส และโรคพยาธิลำไส้ ที่จัดอยู่ในประเภทที่ 2 ก็จะได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องจนหายขาด ส่วนผู้ที่เป็นโรคต้องห้ามมิให้ทำงานในประเทศ ที่จัดเป็นประเภทที่ 3 ได้แก่ วัณโรคระยะติดต่อ โรคเรื้อนและโรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม โรคซิฟิลิสระยะที่ 3 การติดสารเสพติดให้โทษ พิษสุราเรื้อรัง และโรคจิต จิตฟั่นเฟือน หรือปัญญาอ่อน จะไม่ผ่านการตรวจสุขภาพ ไม่สามารถอนุญาตให้ทำงานหรืออยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราวได้ ต้องดำเนินการส่งกลับประเทศต้นทาง ทั้งนี้เพื่อป้องกันการแพร่โรคระบาดดังกล่าวมาสู่คนไทย ********************************************** 26 ธันวาคม 2553


   
   


View 13    26/12/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ