โฆษกกระทรวงสาธารณสุข  ย้ำเตือนประชาชนให้ระวังโรคไข้หวัดนก แม้ไทยจะไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อโรคนี้มากว่า 4 ปี แต่อย่าประมาท หากพบสัตว์ปีกเช่นไก่ นก ตายผิดปกติ ขอให้สงสัยโรคไข้หวัดนกไว้ก่อน รีบแจ้ง อสม. อบต. หรือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อเก็บซากสัตว์ไปตรวจพิสูจน์    ห้ามนำซากสัตว์ปีกมาบริโภคอย่างเด็ดขาด   เพราะอาจเสี่ยงติดเชื้อไข้หวัดนกได้

          จากที่มีข่าวประเทศญี่ปุ่น ตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หวัดนกเอช 5 เอ็น 1 (H5N1) ในนกกระเรียนหมวกขาวที่พบในเมืองอิซุมิ จังหวัดคาโกชินะ เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2553   ขณะที่ทางการฮ่องกงตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หวัดนก ในซากไก่ตัวหนึ่ง ที่ตายอยู่บนริมฝั่งทะเลของเกาะลันเตา ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2553 ที่ผ่านมานั้น  

          ในส่วนของการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ว่า แม้ว่าประเทศไทยจะไม่พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 4 ปี แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขได้จัดระบบเฝ้าระวังการติดเชื้อในคนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศจาก 2 โรคสำคัญคือโรคปอดบวม และโรคไข้หวัดใหญ่ ที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก เช่นมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีก หรืออยู่ในพื้นที่มีสัตว์ปีกตาย ปรากฏว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกแม้แต่รายเดียว     

                    

          นายแพทย์สุพรรณกล่าวต่อไปว่า โรคไข้หวัดนก เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่าเอช 5 เอ็น 1 เชื้อชนิดนี้จะอยู่ในสัตว์ปีก และติดต่อมาสู่คนได้ จากการสัมผัสสัตว์ปีกที่มีเชื้อโดยตรงและสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากสัตว์ที่เป็นโรค เช่นมูล น้ำมูก น้ำตา น้ำลายของสัตว์ปีกที่ป่วย       เชื้อไวรัสชนิดนี้มีชีวิตอยู่ได้นานในที่มีอุณหภูมิต่ำ หรือที่ที่มีความชื้นสูง ซึ่งขณะนี้หลายจังหวัดในประเทศไทยโดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศหนาวเย็น      ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาท หากประชาชนพบสัตว์ปีก ทั้งสัตว์ปีกที่เลี้ยง หรือนกป่า นกธรรมชาติ ป่วยตายผิดปกติ ขอให้คิดถึงโรคไข้หวัดนกไว้ก่อน ห้ามนำซากสัตว์ปีกมาชำแหละบริโภคอย่างเด็ดขาด และไม่สัมผัสซากสัตว์ด้วยมือเปล่าเพราะมีความเสี่ยงติดเชื้อจากสัตว์ปีกได้    ขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรืออาสาสมัครสาธารณสุข เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือ อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อนำไปตรวจชันสูตรหาสาเหตุการตายต่อไป 

          สำหรับอาการของสัตว์ปีกที่ป่วยเป็นโรคไข้หวัดนก ประชาชนสามารถสังเกตได้ดังนี้คือ สัตว์ยืนหรือเดินไม่ปกติ ขนยุ่งไม่เป็นระเบียบ   หายใจขัด ไม่กินอาหาร มีอาการบวมตามหัว หนังตา หงอน เหนียงหรือขา หงอนและเหนียงมีสีแดงคล้ำหรือสีม่วง มีน้ำมูกไหล ถ่ายเหลวเป็นน้ำ ตายอย่างกระทันหัน หากพบสัตว์ปีกมีอาการดังกล่าว ห้ามนำมาชำแหละบริโภคเช่นกัน ขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์โดยเร็ว 

*******************************   24 ธันวาคม 2553


   
   


View 10    24/12/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ