รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามเห็นชอบให้สภาเภสัชกรรม พักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เภสัชกร 2 ราย ที่กระทำผิดพ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 และพ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537 และข้อบังคับจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเภสัชกรรม รายแรกใช้ชื่อปฏิบัติงานร้านขายยาแผนปัจจุบันซ้ำซ้อนกัน 2 แห่ง ให้พักใช้ใบอนุญาตฯเป็นเวลา 2 ปี และรายที่ 2 เปิดสอนหลักสูตรผู้ช่วยเภสัชกรรมเถื่อน ให้พักใช้ใบอนุญาตฯ 1 ปี นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะสภานายกพิเศษ สภาเภสัชกรรม ได้ลงนามเห็นชอบตามมติที่ประชุมคณะกรรมการสภาเภสัชกรรม เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2553 วินิจฉัยชี้ขาดให้พักใช้ใบอนุญาตเภสัชกร 2 ราย เนื่องจากประพฤติผิดพระราชบัญญัติยา(พ.ร.บ.ยา)พ.ศ.2510 พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537 และข้อบังคับสภาเภสัชกรรม ว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2538 ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับบริการที่ปลอดภัย ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข และให้ผู้ประกอบวิชาชีพปฏิบัติตามกฎหมายและจรรายาบรรณแห่งวิชาชีพอย่างเคร่งครัด นายแพทย์สุพรรณกล่าวต่อว่า รายแรก ที่ประชุมคณะกรรมการสภาเภสัชกรรม มีมติให้ลงโทษพักใช้ใบอนุญาตใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมเป็นเวลา 2 ปี โดยเป็นเภสัชกรประจำโรงพยาบาลภาครัฐ จ.สตูล ปฏิบัติงาน 8.00 น.-16.30 น. แต่ทำหน้าที่เป็นเภสัชกรปฏิบัติงานที่ร้ายขายยาแผนปัจจุบันซ้ำซ้อนกัน 2 แห่ง ระหว่างวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2552 – วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2553 คือในอ.ละงู จ.สตูล เวลาทำการ 18.30 ถึง 21.00 น. และในอ.ย่านตาขาว จ.ตรัง เวลาปฏิบัติการ 17.30 น.-21.00 น. นอกจากนี้ยังได้ว่าจ้างเภสัชกรอีก 2 คน ไปปฏิบัติงานในร้านขายยาที่เปิดทำการโดยไม่ได้ขออนุญาตจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวขัดต่อข้อบังคับสภาเภสัชกรรมว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2538 และผิดพระราชบัญญัติยาพ.ศ. 2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและไม่รักษามาตรฐานแห่งการประกอบวิชาชีพในระดับที่ดีที่สุด ผลแห่งการกระทำนั้นจะทำให้ประชาชนทั่วไปมองเภสัชกรในเชิงลบได้ นายแพทย์สุพรรณกล่าวต่อไปว่า รายที่ 2 เป็นเภสัชกรและดำเนินการธุรกิจด้านยา ในตำแหน่งกรรมการบริหาร ที่ประชุมคณะกรรมการสภาเภสัชกรรมมีมติลงโทษพักใช้ใบอนุญาตใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม เป็นเวลา 1 ปี เนื่องจากผลการสอบสวนพบว่า ได้กระทำผิดพระราชบัญญัติยาพ.ศ. 2510 และพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537 และประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2538 โดยได้เปิดสอนหลักสูตรผู้ช่วย เภสัชกรเถื่อน และลงโฆษณารับสมัครอบรมผู้ช่วยเภสัชกรในหนังสือสมัครงาน โบชัวร์ และหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง แสดงถึงเจตนาที่มุ่งจะให้ผู้รับการอบรมประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมเหมือนเภสัชกร ซึ่งทั้ง 2 รายนี้ สภาเภสัชกรรมจะเป็นผู้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป **************************************** 19 ธันวาคม 2553


   
   


View 9    19/12/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ