สาธารณสุข กำชับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เฝ้าระวังเชื้อไวรัสไข้หวัดนกหวนกลับมาระบาดในช่วงอากาศหนาวเย็น ให้ตรวจคัดกรอง ซักประวัติการสัมผัสสัตว์ปีกในผู้ป่วยที่มีไข้ ไอ ท้องเสียทุกราย และให้การรักษาทันที ขอความร่วมมือประชาชน หากพบสัตว์ปีกตาย ให้แจ้งอสม. ปศุสัตว์ อย่านำมาชำแหละเด็ดขาด นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สภาพอากาศของประเทศไทยขณะนี้หลายพื้นที่ เริ่มเย็นลงเรื่อยๆ ซึ่งเอื้อให้เชื้อไวรัสมีชีวิตในสิ่งแวดล้อมทั่วไปได้นานขึ้น ทำให้ประชาชนเสี่ยงติดเชื้อไวรัสทุกชนิดได้ง่าย โรคที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังก็คือไวรัสไข้หวัดนก หรือเชื้อไวรัสเอช 5 เอ็น 1 (H5N1) อาจหวนกลับมาระบาดได้ในช่วงฤดูหนาว แม้ว่าในประเทศไทยจะไม่มีรายงานผู้ป่วยโรคนี้ติดต่อกันมากว่า 4 ปีก็ตาม แต่มีปัจจัยเสี่ยงอย่างน้อย 2 ประการ คือจากนกธรรมชาติอาจนำเชื้อไข้หวัดนกมาได้ ประการที่สอง ยังพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ในประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกัน เพื่อความไม่ประมาทและรักษาพื้นที่ปลอดการป่วยจากโรคไข้หวัดนกในคน ได้เน้นย้ำให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เฝ้าระวังโรคนี้อย่างต่อเนื่อง นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวว่า ได้กำชับให้แพทย์พยาบาลในสถานพยาบาลทุกแห่ง ซักประวัติการสัมผัสสัตว์ปีกในผู้ป่วยทุกรายที่มีอาการไข้ ไอ ปวดศีรษะ ท้องเสีย เพื่อค้นหาคัดกรองผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก หากพบผู้มีอาการเข้าข่าย ขอให้รักษาอย่างรวดเร็ว ซึ่งมียาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์สามารถรักษาโรคนี้ได้ผลดี หากได้รับภายใน 48 ชั่วโมงหลังมีอาการไข้ ซึ่งโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศมีพร้อม และมีห้องแยกดูแลผู้ป่วยโรคนี้ทุกแห่งแล้ว ทั้งนี้ประเทศไทยพบผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนกรายแรกเมื่อ พ.ศ.2547 และพบรายสุดท้ายเมื่อพ.ศ.2549 รวมทั้งหมด 25 ราย เสียชีวิต 17 ราย โดยมีรายงานพบผู้ป่วยใน 18 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี สุโขทัย กาญจนบุรี กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ ชัยภูมิ ลพบุรึ ปทุมธานี ขอนแก่น นครราชสีมา ปราจีนบุรี เพชรบูรณ์ นครนายก นนทบุรี กรุงเทพมหานคร หนองบัวลำภู พิจิตรและอุทัยธานี ดังนั้นจึงขอให้พื้นที่เหล่านี้เฝ้าระวังอย่างเข้มข้นเป็นพิเศษ นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ต้องขอความร่วมมือประชาชน หากพบสัตว์ปีกตายผิดปกติ อย่าปิดบังเพราะความเสียดายหรือกลัวสัตว์ปีกที่เลี้ยงจะถูกทำลายทั้งหมด ขอให้รีบแจ้งอสม.หรืออบต.ผู้ใหญ่บ้าน กำนันหรือปศุสัตว์ทันที เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการป้องกันควบคุมโรคได้อย่างทันท่วงที และอย่าจับซากสัตว์ปีกด้วยมือเปล่าหรือนำสัตว์ที่ตายมาชำแหละเป็นอาหาร เพราะจะมีโอกาสติดเชื้อที่อยู่ในสารคัดหลั่งที่อยู่ในตัวสัตว์ปีกได้สูง และ ขอให้ประชาชนออกกำลังกายเพื่อเพิ่มภูมิต้านโรค ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดบ่อยๆ หลังสัมผัสสิ่งของต่างๆ ก่อนรับประทานอาหาร การล้างมือจะขจัดเชื้อโรคทุกชนิดที่ติดมากับมือออกไปได้ถึงร้อยละ 80 โอกาสป่วยจะลดลง สำหรับสถานการณ์โรคไข้หวัดนกทั่วโลก องค์การอนามัยโลกได้รายงานตั้งแต่พ.ศ.2546 ถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2553 พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโรคไข้หวัดนกทั่วโลกสะสมรวม 508 ราย เสียชีวิต 302 ราย ใน 15 ประเทศ โดยเฉพาะในปี 2553 มีรายงานป่วย 40 ราย เสียชีวิต 20 รายใน 5 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา จีน อียิปต์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม สำหรับอาการของโรคไข้หวัดนก จะเริ่มด้วยอาการไข้สูง ไอ บางรายอาจมีอุจจาระร่วงด้วย โดยเชื้อจะลงไปสู่ปอด ทำให้ปอดอักเสบรุนแรง ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ดังนั้นหากประชาชนรายใดที่มีไข้ ไอ และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกทั้งที่มีชีวิตหรือตายแล้ว หรืออยู่ในพื้นที่มีสัตว์ปีกตายผิดปกติ ต้องรีบพบแพทย์ทันที ************************************ 12 ธันวาคม 2553



   
   


View 9    12/12/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ