สธ.เผย “อหิวาต์” จ.ตาก ควบคุมได้แล้ว ไม่มีผู้ป่วยเพิ่ม ออก 6 มาตรการเข้มป้องกันช่วงสังสรรค์ปีใหม่
- สำนักสารนิเทศ
- 488 View
- อ่านต่อ
วันนี้ (9 ธันวาคม 2553) ที่ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดโครงการฝึกทักษะให้แก่ครูฝึก จำนวน 20 คน ซึ่งจะทำหน้าที่ในการสอนทักษะคนตาบอดในการใช้ไม้เท้าขาว เพื่อทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อม การทำกิจวัตรประจำวัน และการเดินอย่างถูกวิธี
นายจุรินทร์กล่าวว่า ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553-2558 กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) ตั้งเป้าหมายจะแจกไม้เท้าขาวให้คนตาบอดประมาณ 80,000 คน และฝึกอบรมวิธีการใช้ไม้เท้าขาวให้คนตาบอด หลักสูตรละ 120 ชั่วโมง ใช้เวลา 20 วัน เพื่อให้คนตาบอดสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ด้วยความปลอดภัย และใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงกับคนปกติทั่วไปให้ได้มากที่สุด โดยจัดงบประมาณ 705 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 6 ปี โดยความร่วมมือของวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล จัดหลักสูตรอบรมครูฝึก และมีสมาคมคนตาบอด สมาคมเวชปฏิบัติต่าง ๆ มีหน่วยอบรมหลายแห่งเช่น ศูนย์สิรินธรฯ รวมทั้งกระจายไปพื้นที่ต่างๆ ทุกจังหวัดทั่วประเทศ สาเหตุสำคัญที่ทำเร็วกว่าปกติไม่ได้ เนื่องจากมีปัญหาขาดครูผู้ฝึกคนตาบอด ซึ่งปัจจุบันมีครูฝึกเพียง 70 คน ตั้งเป้าหมายว่าใน 6 ปีจะอบรมเพิ่มครูผู้ฝึกให้ได้ 610 คน
จากฐานข้อมูลปี 2553 สปสช. พบว่ามีจำนวนคนตาบอดในระบบประกันสุขภาพ ประมาณ 80,548 ราย และในจำนวนนี้ประมาณร้อยละ 85 ไม่เคยได้รับการฟื้นฟูทักษะด้านการทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหว ซึ่งถือเป็นทักษะที่สำคัญของกระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการทางการมองเห็น ให้สามารถช่วยเหลือตนเองในการทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ได้ อย่างไรก็ตามคาดว่ายังมีผู้พิการประมาณ 1 เท่าตัว ที่ยังไม่ได้มาขึ้นทะเบียน ซึ่งได้ให้เจ้าหน้าที่ออกค้นหาต่อไป
ทั้งนี้ โครงการฝึกทักษะด้านการทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหว (Orientation and Mobility) สำหรับคนตาบอดนั้น เป็นการฝึกให้คนตาบอดรู้จักใช้ประสาทสัมผัสพื้นฐานได้แก่ การมองเห็นที่เหลืออยู่ การฟังเสียง การสัมผัส และการดมกลิ่น การทำกิจวัตรประจำวัน งานบ้าน งานครัว เดินทางกับคนนำทางอย่างถูกวิธี การเดินขึ้นลงบันได การเดินในอาคาร การเดินทางผ่านอุปสรรคต่าง ๆ เช่นพื้นต่างระดับ การค้นหาสิ่งของ การป้องกันอันตราย เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตประจำวันและไปที่ต่าง ๆ ได้อย่างมีปลอดภัยมีประสิทธิภาพและเป็นอิสระ