ให้กรมสุขภาพจิตและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เฝ้าระวังติดตามกลุ่มเสี่ยงอย่างใกล้ชิด พร้อมเปิดสายด่วน 1323 บริการให้คำปรึกษาผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต  24 ชั่วโมง ฟรี

          วันนี้ (7 ธันวาคม 2553) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีที่มีหญิงสาวอายุ 24 ปี ผูกคอตาย โดยมีการตั้งกล้องเว็บแคมติดอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อให้เห็นปฏิบัติการฆ่าตัวตายเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2553 ที่ผ่านมาว่า จากการตรวจสอบของกรมสุขภาพจิตได้ข้อมูลชัดเจนว่า น่าจะเป็นพฤติกรรมเลียนแบบซึ่งเป็นพฤติกรรมที่น่าเป็นห่วง ต้องขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนว่าสามารถเสนอข่าวได้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำไม่ควรเลียนแบบ แต่ต้องไม่เผยแพร่ภาพซ้ำโดยไม่จำเป็น ซึ่งอาจจะเป็นการยั่วยุให้เกิดการเลียนแบบ เนื่องจากพฤติกรรมเลียนแบบส่วนใหญ่จะเกิดจากการเลียนแบบบุคคลมีชื่อเสียง คนดัง ไม่ว่าจะในพฤติกรรมทางดีหรือทางไม่ดี รวมทั้งพฤติกรรมที่ได้รับการสนใจจากสาธารณะ
สำหรับกรณีนี้ ไม่ใช่คนดัง คนมีชื่อเสียง หากมีการเผยแพร่ภาพซ้ำมากๆ ก็จะทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นภาพสาธารณะที่ได้รับสนใจ หากทำตามอาจจะเป็นที่สนใจของสาธารณะชนได้ จนในที่สุดจะเป็นฆ่าตัวตายถ่ายทอดสดเลียนแบบทำให้เกิดปัญหาต่อไป
“ความจริงระบบเทคโนโลยีมี 2 ด้าน หากใช้ในทางสร้างสรรค์ก็จะเป็นประโยชน์ แต่กรณีที่เกิดขึ้นถือว่าไม่ได้นำไปใช้ในทางสร้างสรรค์ การเอาไปใช้ถ่ายทอดสดในการฆ่าตัวตายเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ” นายจุรินทร์กล่าว
          นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า สำหรับประเทศไทยในช่วง 8 ปีที่ผ่านมามีอัตราการฆ่าตัวตายลดลง จาก 8.6 คนต่อแสนประชากรเหลือ 5.7 คนต่อแสนประชากร ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายเฝ้าระวังกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายเป็นพิเศษ ได้แก่ กลุ่มที่เป็นโรคซึมเศร้า จากสถิติการฆ่าตัวตายพบผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าทั่วโลก ร้อยละ 90 เป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุด สำหรับประเทศไทยพบได้ร้อยละ 60 ของผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าทุกคนจะฆ่าตัวตาย แต่จะต้องมีองค์ประกอบอื่นหรือจุดที่สร้างความรู้สึกอยากฆ่าตัวตายเข้ามาเสริม เช่น การเกิดความรู้สึกสูญเสียอย่างรุนแรง เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกับคนใกล้ชิด หรือกรณีดื่มเหล้าจนความคุมตัวเองไม่ได้ โดยได้ให้กรมสุขภาพจิตและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศติดตามตรวจคัดกรองผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่เกิดความท้อแท้ สิ้นหวัง โดยมีแบบคัดกรอง หากพบผู้ที่มีความเสี่ยงมาก จะมีเจ้าหน้าที่ทำการติดตามเฝ้าระวังป้องกันการฆ่าตัวตายอย่างต่อเนื่อง
          นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า ประชาชนรายใดที่มีปัญหาเกี่ยวกับสภาพจิตใจ กระทรวงสาธารณสุขมีสายด่วนสุขภาพจิตหมายเลข 1323 พร้อมให้คำปรึกษาตลอด 24ชั่วโมง เมื่อมีปัญหาอย่าด่วนคิดตัดสินใจด้วยตัวเอง   หากหาทางออกไม่ได้ ให้โทรมาปรึกษาที่สายด่วนดังกล่าวได้ฟรี
**************************************** 7 ธันวาคม 2553 


   
   


View 9    07/12/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ