สาธารณสุข แนะผู้นิยมเครื่องกันหนาวมือสอง ราคาถูก ให้ระวังกลาก เกลื้อน เป็นของแถม ก่อนใช้ต้องซักและต้มในน้ำเดือด 15-30 นาที พร้อมย้ำเตือนนักท่องป่าหน้าหนาวที่นิยมนอนเต้นท์หรือจัดแคมป์ไฟ ระวังโรคสครับไทฟัสจากตัวไรอ่อนกัดในร่มผ้า และโรคไข้ป่าจากยุงก้นปล่อง อันตรายถึงตาย ขณะนี้ทั้ง 2 โรคพบได้ตลอดปี เสียชีวิตแล้ว 41 ราย แนะหากป่วยหลังเที่ยวป่า 10-14 วัน ควรพบแพทย์
ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูหนาว ขอให้ประชาชนสวมเสื้อผ้าให้ความอบอุ่นร่างกายให้เพียงพอ ผู้ที่นิยมเครื่องกันหนาวมือสอง เช่นเสื้อผ้า อาจจะมีความเสี่ยงติดเชื้อที่มากับเสื้อผ้ามือสอง ทั้งจากเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคกลาก เกลื้อน ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย ก่อนนำมาใช้ ต้องซักและต้มในน้ำเดือดนาน 15-30 นาที เพราะการซักธรรมดาอย่างเดียวหรือตากแดดจัดๆ เป็นเวลานาน ไม่สามารถฆ่าเชื้อเหล่านี้ได้หมด
ดร.พรรณสิริ กล่าวต่อว่า สำหรับช่วงหน้าหนาว ซึ่งอากาศเย็น ฟ้าโปร่ง มักจะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก นิยมไปเที่ยวป่า เดินป่า กางเต็นท์นอนตามป่า หรือนอนดูดาวในหน้าหนาว โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษาในภาคเหนือ ขอให้ระมัดระวังตนเอง เนื่องจากในป่าจะมีตัวไรอ่อน เป็นพาหะนำโรคสครับไทฟัส และมีโรคไข้จับสั่นหรือไข้มาลาเรีย ซึ่งเกิดจากยุงก้นปล่องกัด ยุงชนิดนี้อยู่ในป่า ออกหากินเวลากลางคืนอยู่แล้ว ทั้ง 2 โรคนี้มีอันตรายทำให้เสียชีวิต ไม่มียากินป้องกัน และไม่มีวัคซีนป้องกันโรค
ในการป้องกันไม่ให้ไรอ่อนกัด ผู้ที่จะไปเดินป่า กางเต๊นท์นอนในป่า ควรใส่รองเท้า ถุงเท้า ที่หุ้มปลายขากางเกงไว้ ใส่เสื้อแขนยาวปิดคอ และเหน็บปลายเสื้อเข้าในกางเกง ใช้ยาทากันแมลงกัด ส่วนการเลือกที่ตั้งค่ายพักในป่า ควรทำบริเวณค่ายพักให้โล่งเตียน หลีกเลี่ยงการนั่งและนอนบริเวณพุ่มไม้ ป่าละเมาะ หรือหญ้าขึ้นรก เมื่อกลับมาถึงที่พัก ต้องรีบนำเสื้อผ้าไปต้ม หรือแช่ผงซักฟอกทันที เพื่อทำลายไรอ่อนที่อาจติดมากับเสื้อผ้าได้ ผู้ที่จะนอนแคมป์ตามป่าเขา ควรเตรียมมุ้งหรือเต้นท์ชนิดที่มีตาข่ายกันยุงได้ และทายากันยุง หรือยาทาไล่ยุงป้องกันยุงกัด ในการทายากันยุงต้องใช้ทาบริเวณที่มีโอกาสจะถูกยุงกัด ได้แก่ แขน ขา ใบหู หลังคอ และส่วนที่อยู่นอกเสื้อผ้า
ทางด้านนายแพทย์วิชัย สติมัย ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรคกล่าวว่า จากรายงานโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศในปี 2553 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมจนถึงตุลาคม 2553 พบมีผู้ป่วยจาก 2 โรคนี้แล้ว 27,659 ราย เสียชีวิต 41 ราย ประกอบด้วยโรคสครับไทฟัส 5,550 ราย เสียชีวิต 9 ราย และโรคมาลาเรียพบผู้ป่วย 22,109 รายเสียชีวิต 32 ราย
นายแพทย์วิชัยกล่าวว่า ผู้ป่วยโรคสครับไทฟัสพบมากที่สุดในภาคเหนือ 3,267 ราย คือจังหวัดน่าน 636 ราย ตาก 568 ราย รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,427 ราย มากสุดที่จ.ขอนแก่น 205 ราย นครราชสีมา 202 ราย ส่วนภาคใต้พบ 725 ราย และภาคกลางพบ 131 ราย สำหรับโรคมาลาเรียพบมากที่สุดที่ภาคเหนือ 8,823 ราย ภาคใต้ 8,532 ราย ภาคกลาง 3,984 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 770 ราย จังหวัดที่พบมากที่สุดได้แก่ ตาก 7,157 ราย ชุมพร 2,177 ราย ยะลา 1,834 ราย
ทั้งนี้ โรคสครัปไทฟัส เกิดจากตัวไรอ่อน(Chigger) กัด ซึ่งในตัวไรอ่อนจะมีเชื้อริกเกทเซีย (Rickettsia orientalis) เชื้อชนิดนี้อาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหารของไรหลายชนิด เมื่อไรแก่ จะออกไข่ไว้บนดินและไข่ฟักเป็นตัว มักจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆ และกินน้ำเหลืองของสัตว์เลือดอุ่น เช่น นก หนู สัตว์เลื้อยคลาน และคนที่เดินผ่านบริเวณที่ไรอ่อนอยู่ โดยไรอ่อนมักอยู่ตามทุ่งหญ้า พุ่มไม้เตี้ยๆ หรือพื้นที่ป่าละเมาะรวมทั้งพื้นที่ที่เป็นป่าทึบ ตัวไรอ่อนมีขนาดเท่าปลายเข็มหมุด มองเห็นได้ ตัวจะมีสีส้มอมแดง โดยไรอ่อนชอบกัดบริเวณร่มผ้า ได้แก่ที่อวัยวะสืบพันธุ์ ขาหนีบ เอว ลำตัว รักแร้และคอ หลังถูกไรอ่อนกัด จะมีแผลไหม้(Eschar) คล้ายกับโดนบุหรี่จี้ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ คือตรงกลางเป็นสะเก็ดสีดำ และรอบ ๆ แผลจะแดง หลังถูกกัดประมาณ 10-12 วัน จะมีไข้สูง ปวดศีรษะมาก ปวดเมื่อยตามตัว ตาแดง อาจมีอาการทางปอดและสมองได้ ควรรีบไปพบแพทย์ หากรักษาไม่ทันอาจทำให้เสียชีวิตได้ และต้องแจ้งประวัติการไปเที่ยวป่าให้แพทย์ทราบด้วย
สำหรับโรคมาลาเรีย มียุงก้นปล่องเป็นพาหะ เกิดจากเชื้อพลาสโมเดียม (Plasmodium )มี 5 ชนิด ที่พบในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นชนิดพี.ฟัลซิพารัม ( P.falciparum ) ซึ่งเป็นชนิดที่รุนแรง และ พี.ไวแว็ก (P.vivax ) มีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน อาการป่วยคือ มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ พบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี ทุกกลุ่มอายุ โดยพบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 10-35 ปี พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2 เท่า เชื้อทั้ง 2 ชนิดจะมีลักษณะของอาการไข้ต่างกัน หากเป็นเชื้อฟัลซิปารัม จะจับไข้ทุก 36-48 ชั่วโมงหรือทุกวันก็ได้ และอาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงเช่น มาลาเรียขึ้นสมอง ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เหลืองซีด ปัสสาวะสีดำ ไตล้มเหลว ปอดบวมน้ำ ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ส่วนเชื้อไวแว็กซ์ จับไข้ทุก 48 ชั่วโมงหรือจับไข้วันเว้นวัน หากหลังเข้าป่าประมาณ 10-14 วันและมีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ขอให้รีบพบแพทย์ และแจ้งประวัติการเข้าป่าให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อให้การรักษาที่รวดเร็ว
************************** 14 พฤศจิกายน 2553
View 11
14/11/2553
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ