เมื่อวานวันเดียวมีผู้ป่วยแล้ว 6,600 ราย เตือนประชาชนอย่าถอดรองเท้าเดินย่ำน้ำเท้าเปล่า อาจโดนเศษแก้ว เศษหินบาดเท้าเป็นแผล เสี่ยงเชื้อโรคฉี่หนูเข้าบาดแผล

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ทั่วประเทศของกระทรวงสาธารณสุข ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม ตั้งแต่ 20 ตุลาคม-4 พฤศจิกายน 2553 ออกหน่วย 3,219 ครั้ง จำนวนผู้ป่วย 353,549 ราย ป่วยมากอันดับ 1 คือ น้ำกัดเท้าประมาณร้อยละ 50  โรคหวัดร้อยละ 30 ภาวะความเครียดร้อยละ 10  มีผู้เสียชีวิต 123 ราย เฉพาะเมื่อวานวันเดียวเพิ่ม 11 ราย ส่วน 10 ศพ ที่ลอยทะเลมาที่ จ.ปัตตานี ขณะนี้ศพอยู่ที่โรงพยาบาลยะหริ่ง ยังต้องตรวจสอบต่อไปว่าสาเหตุที่เสียชีวิตเกิดจากน้ำท่วมหรือไม่ สำหรับสถานการณ์ที่ภาคใต้ขณะนี้ที่จะต้องเข้าไปดูแลเพิ่มเติมพิเศษคือที่ จ.นครศรีธรรมราชและ จ.ชุมพร มีโรงพยาบาลที่ต้องดูแลเป็นพิเศษคือโรงพยาบาลท่าศาลากับโรงพยาบาลหลังสวน ที่ผ่านมาสามารถป้องกันน้ำท่วมได้ดีและล่าสุดภาวะน้ำเริ่มลด โดยโรงพยาบาลทั้ง 2 แห่งยังเปิดให้บริการต่อไป

          นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับโรงพยาบาลหาดใหญ่ ได้เปิดให้บริการในส่วนผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยฉุกเฉินแล้ว ยังเหลือห้องผ่าตัด ที่ต้องรอความพร้อมระบบไฟฟ้าและระบบน้ำ ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาได้เปิดให้บริการไปแล้วหลายร้อยคน เฉพาะเมื่อวานผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษา ส่วนใหญ่มีบาดแผลที่เท้า เพราะเดินเท้าเปล่าย่ำน้ำ ในการปฏิบัติภารกิจขนย้ายสิ่งของหลังน้ำลด ทำให้โดนแก้วบาดหรือเศษหินบาดบ้าง  ต้องขอเตือนเป็นพิเศษว่า อย่าถอดรองเท้าย่ำน้ำ เพราะเสี่ยงต่อการเกิดบาดแผล เสี่ยงเชื้อโรคฉี่หนูเข้าบาดแผล ถ้าจำเป็นต้องเดินย่ำน้ำของให้ใส่รองเท้าบู๊ท 

          นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปอีกว่า ในการจัดบริการตรวจรักษาผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลหาดใหญ่ ซึ่งปกติมีผู้ป่วยมารักษาประมาณวันละ 2,000 คน ได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ โดยทีมแพทย์จากจังหวัดในภาคใต้ ออกให้บริการ จำนวน  26 จุด เพื่อเปิดให้บริการเป็นกรณีพิเศษ เฉพาะวานนี้ (4 พ.ย.) มีผู้มารับบริการ 6,600 คน รวมกับเมื่อวันก่อน 1,000 คนรวมทั้งหมด 7,600 คน และจะเปิดบริการต่อไป จนกว่าโรงพยาบาลหาดใหญ่จะเข้าสู่ภาวะปรกติ ซึ่งคาดว่าวันจันทร์ที่ 8 พฤศจิกายนนี้จะสามารถเปิดให้บริการได้ครบทุกแผนก

          นายจุรินทร์กล่าวถึงสถานการณ์ไข้เลือดออกว่า ในช่วง 3-4 สัปดาห์ที่ผ่านมาตัวเลขผู้ป่วยในภาพรวมทั่วประเทศลดลง สาเหตุน่าจะมาจากแหล่งเพาะพันธุ์ยุงน้อยลง เนื่องจากน้ำท่วม ซึ่งปกติยุงลายจะวางไข่ในน้ำนิ่งและสะอาด เมื่อประสบภาวะน้ำท่วม การวางไข่ก็ลดลง ไข้เลือดออกก็ลดลงตามไปด้วย ประกอบกับมาตรการควบคุมเข้มอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และต่อจากนี้ไป คาดว่าตัวเลขผู้ป่วยก็ไม่น่าจะเพิ่มขึ้น เพราะว่ากำลังเข้าสู่หน้าหนาว ซึ่งยุงจะขยายพันธุ์ได้ช้า รวมกับมาตรการที่เข้มข้น  ส่วนผู้ป่วยในเขตกรุงเทพมหานคร เปรียบเทียบกับที่ผ่านมา จำนวนผู้ป่วยก็ไม่ได้สูงขึ้นกว่าก่อนน้ำท่วม เช่นเดียวกับภาพรวมทั่วประเทศ 

      ********************************************* 5 พฤศจิกายน 2553
 


   
   


View 16    05/11/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ