วันนี้ (1 พฤศจิกายน 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขว่า เนื่องจากปีนี้อากาศจะหนาวกว่าปีที่ผ่านมา ที่ประชุมได้พิจารณามาตรการต้านภัยหนาว   ได้สั่งการให้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการดูแลภัยหนาวด้านสุขภาพที่กระทรวงสาธารณสุข หรือวอร์รูมต้านภัยหนาว โดยมอบให้นายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นคณะทำงาน โดยให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่มากับภัยหนาว 2 มาตรการ ได้แก่ 1.มาตรการเชิงรุก เพื่อค้นหาผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังเด็กที่อาจจะป่วยได้ง่าย ซึ่งโรคที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ ปอดอักเสบ ปอดบวม ซึ่งปีที่แล้วมีจำนวน 900 ราย และ 1 ใน 3 เสียชีวิตในช่วงหน้าหนาว ในปีนี้จึงตั้งเป้าลดอัตราการเสียชีวิตลง และ2.มาตรการรณรงค์ให้คำแนะนำ ให้ความรู้การดูแลสุขภาพ หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เพื่อการเจ็บป่วยและการเสียชีวิต เช่น ดูแลร่างกายให้อบอุ่น หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง ได้แก่ งดดื่มสุรา ซึ่งยังมีการเข้าใจผิดจำนวนมาก ว่าดื่มสุราสามารถแก้ปัญหาหนาวเย็นได้ เนื่องจากแอลกอฮอล์จะช่วยอบอุ่น 2- 3 ชั่วโมงแรกเท่านั้น หลังจากนั้นผู้ที่ดื่มจะเสียน้ำอย่างรุ่นแรงทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนั้นจะรณรงค์เรื่องอื่นๆด้วย เช่น การผิงไฟกลางแจ้ง จุดไฟนอนในเต้นท์ซึ่งพบเสียชีวิตในตอนเช้า เนื่องจากสูดคาร์บอนไดออกไซด์ เด็กเล็กใช้ผ้าห่มคลุมนอนขาดอาการเสียชีวิต เป็นต้น โดยให้วอร์รูมจัดทำเอกสารเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โดยเร็วที่สุด

                    

 

                นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า การป้องกันโรคหน้าหนาว ได้สั่งการให้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนก ในช่วงน้ำท่วมนี้ จำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ลดลงอย่างชัดเจน ไม่มีการแพร่ระบาดเป็นกลุ่ม สัปดาห์ที่ผ่านมาไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม สำหรับการ ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีวัคฉีด 2.3 ล้านโด๊สนั้น ขณะนี้ได้ฉีดไปแล้ว 2 ล้าน 6 หมื่นโด๊ส ที่เหลือประมาณ 2.4 แสนโด๊ส วันนี้ได้สั่งการให้ขยายเวลาการฉีดวัคซีนซึ่งแต่เดิมให้ฉีดถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2553 ขยายเวลาการฉีดออกไปจนกว่าวัคซีนจะหมด โดยกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม ได้แก่ 1.หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์เกินกว่า 7 เดือน 2.ผู้ที่อ้วนน้ำหนักมากกว่า 100 กก. 3.ผู้พิการทางสมอง4.ประชาชนอายุ 6 เดือนขึ้นไปที่มีโรคเรื้อรัง 5.ผู้สูงอายุเกินกว่า 65ปีขึ้นไป 6.เด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน- 2ปี และ 7.กลุ่มบุคลากรทางสาธารณสุข สามารถไปฉีดวัคซีนได้ฟรี ที่โรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยใกล้บ้าน

          นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการพร้อมกัน 3 มาตรการควบคู่กันไป ได้แก่มาตรการที่ 1 เดินหน้าการแก้ปัญหาน้ำท่วม 4 แผน มาตรการที่2 การฟื้นฟูในพื้นที่หลังน้ำลดเป้าหมาย 24 จังหวัด 1,631 ตำบล ประกอบด้วย 3 แผนงาน 11 กิจกรรม ได้แก่ แผนการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ดูแลสุขภาพกายและจิต แผนการควบคุมโรค และแผนสุขอนามัย และสุดท้ายคือมาตรการต้านภัยหนาว

          ด้าน นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอุทกภัย ด้านการแพทย์และสาธารณสุขกล่าวว่า เรื่องการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ไปช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมนั้น ได้ประสานกับองค์การเภสัชกรรมเพิ่มกำลังการผลิตยาชุดน้ำท่วมวันละ 1 แสนชุด ส่งให้ทุกจังหวัดที่ประสบภัย และเตรียมสต๊อกไว้คาดว่าจะไม่มีปัญหา

 **************************************** 1 พฤศจิกายน 2553



   
   


View 11    01/11/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ