รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เตือนระวัง 6โรคที่มาพร้อมกับภัยหนาวเช่น ไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคอุจจาระร่วง ตลอด 4 เดือนช่วงฤดูหนาวปีที่ผ่านมา พบผู้ป่วยรวม 541,650 ราย ร้อยละ 81เป็นโรคอุจจาระร่วง เสียชีวิตรวม 381รายจากโรคปอดบวมมากที่สุด  แนะประชาชนโดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมทั้งผู้ที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ให้ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกาย ล้างมือ  และไม่แนะนำให้นำที่นอนเปียกน้ำมาใช้ เพราะมีความชื้นสูง เสี่ยงติดเชื้อง่าย

ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว สภาพอากาศที่เย็นลง เอื้อต่อเชื้อโรคบางชนิดเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะเชื้อไวรัส ซึ่งทำให้เกิดโรคติดต่อหลายโรค ที่มักพบบ่อยในฤดูหนาวมี 6โรค ได้แก่ โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคหัด โรคหัดเยอรมัน โรคสุกใส และโรคอุจจาระร่วง  กลุ่มประชาชนทีมีความเสี่ยงป่วยง่ายกว่าคนประชาชนทั่วไป ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอด โรคโลหิตจาง เนื่องจากมีระดับภูมิต้านทานโรคต่ำอยู่แล้ว จึงขอให้รักษาความอบอุ่นร่างกาย ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง คือรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มมึนเมา ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ล้างมือบ่อยๆ โดยกรมควบคุมโรค ได้ออกประกาศการป้องกันโรคในฤดูหนาว เพื่อให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการปฏิบัติตัวไม่ให้เจ็บป่วยด้วยโรคดังกล่าวแล้ว

ดร.พรรณสิริกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในบางพื้นที่ยังประสบปัญหาน้ำท่วมขัง อาจเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ประสบภัยเจ็บป่วยง่าย เนื่องจากอากาศมีความชื้นสูง สิ่งที่ต้องระมัดระวังก็คือเรื่องที่นอน หากที่นอนเปียกน้ำแล้ว ไม่ควรนำมาใช้อีก เนื่องจากน้ำจะชุ่มอยู่ในวัสดุที่ใช้ทำที่นอน จะมีความชื้นสูง ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจได้ง่าย ควรใช้วัสดุอื่นปูนอนเช่นเสื่อ หรือผ้าหนาๆ ก็ได้   

    จากการติดตามสถานการณ์ในฤดูหนาวในปีที่ผ่านมา 4 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2552 – กุมภาพันธ์ 2553 ทั่วประเทศ มีผู้ป่วยจากโรคฤดูหนาว 6 โรครวมกัน 541,650 ราย มากที่สุดคือโรคอุจจาระร่วง    438,148 ราย รองลงมาคือปอดบวม 51,464 ราย ไข้หวัดใหญ่ 30,828 ราย ที่เหลือเป็นโรคสุกใส โรคหัด และโรคหัดเยอรมัน   มีผู้เสียชีวิตรวม 381ราย จากโรคปอดบวมมากที่สุด 340 ราย ทั้งนี้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะประชุมผู้บริหารระดับสูงในวันพรุ่งนี้ ( 1 พฤศจิกายน 2553 ) เพื่อกำหนดมาตรการดูแลประชาชนและควบคุมป้องกันโรคในหน้าหนาว

ทางด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม หัด หัดเยอรมัน สุกใส เป็นโรคที่ติดต่อกันได้ทางการไอจามโดยเชื้อโรคจะอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย และอาจติดจากการใช้ภาชนะและสิ่งของร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น โดยโรคไข้หวัดใหญ่อาการจะเริ่มด้วยการมีไข้สูง  หนาวสั่น  ปวดศีรษะ  ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ไอเมื่อเริ่มมีอาการ  ควรนอนพักผ่อนให้มาก ๆ ดื่มน้ำบ่อย ๆถ้าตัวร้อนมากควรใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดตัว หรือกินยาลดไข้ อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นภายใน 2-7วัน แต่หากมีอาการไอมากขึ้นหรือมีไข้สูงนานเกิน 2วันควรไปพบแพทย์โดยเฉพาะเด็กเล็กหากมีอาการเปลี่ยนแปลงคือหายใจเร็วขึ้น  มีอาการหอบ หรือหายใจแรงจนชายโครงบุ๋ม หรือหายใจมีเสียงดัง อาจเกิดโรคแทรก ที่สำคัญคือ โรคปอดบวม ซึ่งมีความรุนแรงต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีเนื่องจากเป็นสาเหตุการเสียชีวิตมากที่สุดในเด็กอายุต่ำกว่า 5  ปีรวมทั้งเด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อย เด็กขาดสารอาหาร เด็กที่มีความพิการแต่กำเนิด เช่น โรคหัวใจ เป็นต้น   

สำหรับ โรคหัดมักเกิดในเด็กโตและวัยรุ่นอาการจะเริ่มจากมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง และจะมีผื่นขึ้นภายหลังมีไข้ประมาณ 4  วัน จากนั้นผื่นจะกระจายทั่วตัว  โดยผื่นจะจางหายไปภายใน 2สัปดาห์ เด็กที่ป่วยเป็นหัด ให้แยกออกจากเด็กอื่นๆ ประมาณ 1 สัปดาห์  ส่วนโรคหัดเยอรมันเป็นได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็กเล็กมีอาการไข้ ออกผื่นคล้ายโรคหัด บางรายอาจไม่มีผื่นขึ้นหากเป็นหัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกอาจทำให้ทารกในครรภ์พิการได้ ดังนั้นควรพบแพทย์และหยุดงานหรือหยุดเรียนประมาณ 1 สัปดาห์ ขณะนี้สถานบริการสาธารณสุขของรัฐมีบริการฉีดวัคซีนรวมป้องกันได้ 3  โรค ทั้งโรคหัด หัดเยอรมัน และคางทูมให้กับเด็กอายุ 4-6ปี และเด็กอายุ 9-12 เดือน รวม 2 ครั้ง  จะมีภูมิต้านทานโรคตลอดชีวิต

ส่วนโรคสุกใสมักจะเกิดในเด็ก เมื่อเป็นโรคนี้แล้วจะมีภูมิต้านทานโรคตลอดชีวิตอาการจะเริ่มด้วยไข้ต่ำๆ ต่อมาจะมีผื่นขึ้นที่หนังศีรษะ หน้า ตามตัวโดยเริ่มเป็นผื่นแดง ตุ่มนูน แล้วเปลี่ยนเป็นตุ่มพองใสหลังมีไข้ 2-3 วันจากนั้นตุ่มจะเป็นหนอง และแห้งตกสะเก็ดหลุดออกเองประมาณ 5-20 วันเด็กนักเรียนที่ป่วยควรหยุดเรียนประมาณ 1 สัปดาห์ เด็กเล็กที่ป่วยควรตัดเล็บให้สั้นเพื่อป้องกันการอักเสบจากการเกาที่ผื่น

นายแพทย์มานิตกล่าวต่ออีกว่า สำหรับโรคอุจจาระร่วงในฤดูหนาว ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า โรต้าไวรัส (Rotavirus) มักจะเกิดขึ้นกับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ติดต่อโดยการดื่มน้ำหรือกินอาหารที่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อนเข้าไปโดยเด็กจะถ่ายอุจจาระเป็นน้ำหรือถ่ายเหลวบ่อยครั้งโดยทั่วไปอาการไม่รุนแรงแต่เด็กบางคนอาจขาดน้ำรุนแรง หากมีเด็กในบ้านถ่ายเหลว ควรให้กินอาหารเหลวบ่อยๆ เช่น น้ำข้าวต้มน้ำแกงจืด ให้ดื่มนมแม่ สำหรับเด็กที่ดื่มนมผสมควรผสมนมให้เจือจางลงครึ่งหนึ่งจนกว่าอาการจะดีขึ้น  หากยังถ่ายบ่อยให้ผสมสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ให้ดื่มบ่อยๆ อาการจะกลับเป็นปกติได้ภายใน 8-12 ชั่วโมงหากอาการไม่ดีขึ้นต้องรีบพาไปพบแพทย์ทันที

สำหรับการป้องกันโรคอุจจาระร่วงในเด็กเล็ก ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งสะอาดปลอดภัย เด็กมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ดีผู้ที่ดูแลเด็กต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนเตรียมอาหารและหลังเข้าห้องน้ำให้เด็กกินอาหารที่สุกใหม่ ๆ และดื่มน้ำต้มสุกโดยให้เด็กที่ป่วยถ่ายอุจจาระลงในภาชนะที่รองรับมิดชิดแล้วนำไปกำจัดในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจาย

                       *********************************   31 ตุลาคม 2553



   
   


View 19    31/10/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ