วันนี้ (25 ตุลาคม 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยผลการประชุมศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอุทกภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุขกระทรวงสาธารณสุข ว่า จากการประเมินสถานการณ์ขณะนี้สถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมทั้งหมด 408 แห่ง ซึ่งรวมทั้งโรงพยาบาลด้วย ทุกแห่งเปิดให้บริการได้ตามปกติ โดยโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาวันนี้ได้เปิดให้บริการแผนผู้ป่วยนอกแล้ว ส่วนการผ่าตัดขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสีย หากไม่มีปัญหาก็สามารถบริการได้ทันที ส่วนโรงพยาบาลชัยภูมิน้ำแห้งแล้วให้บริการตามปกติ สำหรับที่โรงพยาบาลพิมายระดับน้ำลดลงเล็กน้อย ยังคงให้บริการตามปกติ
สำหรับผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในช่วงวันที่ 20 - 24 ตุลาคม 2553 รวม 5 วัน ออกปฏิบัติการทั้งหมด 334 หน่วย พบผู้เจ็บป่วยทางกายรวม 107,223 ราย กว่าครึ่งเป็นโรคน้ำกัดเท้า ปวดเมื่อยตามร่างกายและไข้หวัด ให้ความรู้การดูแลสุขภาพป้องกันการเจ็บป่วยไปแล้ว 58,346 คน ออกเยี่ยมบ้านไปแล้ว 61,688 คน ส่วนบริการด้านสุขภาพจิต พบผู้เจ็บป่วยทางจิต รวม 816 ราย ส่วนใหญ่มีอาการเครียด นอนไม่หลับ ส่งรักษาต่อ 99 ราย
นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า แผนการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขในวันนี้ ได้เพิ่มการจัดส่งยารักษาโรคน้ำกัดเท้า ยาชุดน้ำท่วม ส่งไปให้จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี สุพรรณบุรี และสิงห์บุรี เพื่อใช้ในการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ และได้ส่งของที่ได้รับบริจาคจากประชาชนเช่น ยาจุดกันยุง เจลล้างมือ ผ้าอนามัยไปเสริมด้วย สำหรับการเฝ้าระวังป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม 3 โรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจ โรคอุจจาระร่วง และโรคฉี่หนู ในพื้นที่ทั้งกำลังประสบภัยและพื้นที่น้ำลดแล้ว คือ ระยอง จันทบุรี ตราด ยังไม่มีรายงานการระบาดของโรค มีเพียงโรคตาแดงเกิดขึ้นบ้างประปราย สามารถควบคุมได้
นายจุรินทร์กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับโรงพยาบาล 19 แห่งที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ่าพระยาและป่าสัก ซึ่งเสี่ยงต่อน้ำท่วม ซึ่งได้กำชับให้จัดเตรียมแผนรับมือ 4 แผนได้แก่ 1.การป้องกันน้ำไม่ให้ท่วมโรงพยาบาล 2.แผนการสำรองทรัพยากรเช่นอาหาร ยา ออกซิเจน3.แผนการส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน และ 4.แผนการปรับระบบบริการให้เหมาะสมและครอบคลุมผู้ประสบภัยทุกพื้นที่ ขณะนี้ยังไม่มีรายงานโรงพยาบาลถูกน้ำท่วมเพิ่ม
********************************** 25 ตุลาคม 2553
View 7
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ