รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ห่วงเด็กประถมและมัธยมตอนต้น ใช้เวลาช่วงปิดเทอมหมดไปกับ เล่นอินเทอร์เน็ต เล่นเกม หลังพบเด็กกลุ่มนี้กว่าร้อยละ 23 เล่นเกม ส่งผลให้อ้วนรวดเร็ว   สายตาแย่ลง และมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงขึ้น แนะพ่อแม่ใช้คาถา 10 ข้อ ป้องกันลูกติดเกม ผลักดันการป้องกันแก้ไขปัญหาเด็กติดเกมเป็นวาระแห่งชาติ

วันนี้(7 ตุลาคม 2553) ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงปิดเทอม เด็กส่วนใหญ่จะใช้เวลาว่างเล่นอินเทอร์เน็ต เล่นเกมหรือท่องโลกในยุคไซเบอร์ จนเกิดปัญหาติดเกม หยุดไม่ได้ และในขณะที่เล่นเกมเด็กจะดื่มน้ำอัดลม กินอาหารประเภทอาหารขยะ ซึ่งกินง่ายสะดวก ไม่ต้องใส่จาน หรืออมลูกอมไปด้วย ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น อ้วนขึ้นรวดเร็ว เพราะนั่งอยู่กับที่มีแต่รับพลังงานเพิ่ม ไม่มีการออกกำลังกายใช้พลังงาน จากรายงานโครงการเฝ้าระวังปัญหาเด็ก ในพ.ศ. 2549-2550 พบว่าเด็กประถมศึกษาถึงระดับปริญญาตรีเล่นเกมร้อยละ 18- 23 เด็กยิ่งเล็กยิ่งเล่นเกมมากกว่าเด็กโต โดยใช้เวลาเล่นเกมมากกว่า 1 ชั่วโมงใน 1 วัน 
 
ดร.พรรณสิริ กล่าวอีกว่า ผลกระทบของการเล่นเกมจนติด จะทำให้มีปัญหาในการควบคุมตนเอง ขาดจิตสำนึกที่จะปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้อง และสุขภาพไม่แข็งแรง จากรายกงานของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ในปี 2548-2550 พบเด็กเล่นเกมมีสายตาแย่ลงมากขึ้น ร่างกายไม่แข็งแรงเนื่องจากพักผ่อนไม่เพียงพอ ขาดการออกกำลังกาย มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงขึ้น โดยพบว่ามีการสิ้นเปลืองเงินและเวลาเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 71 เป็นร้อยละ 89 สายตาแย่ลงจากร้อยละ 78 เพิ่มเป็นร้อยละ 83     
ข้อสังเกตสำหรับพ่อแม่ว่าลูกมีพฤติกรรมติดเกมเข้าขั้นต้องแก้ไข ดังนี้ เด็กจะใช้เวลาเล่นเกมครั้งละไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมงหรือเล่นอย่างหามรุ่งหามค่ำ ไม่สนใจกิจกรรมที่เคยชอบหรือเคยทำเป็นกิจวัตร เช่น ไม่ทำการบ้าน ผลการเรียนลดลง ไม่รับประทานอาหารร่วมกับครอบครัว เลิกเล่นกีฬา เลิกดูทีวี เลิกดูหนัง ปฏิเสธการไปเที่ยวกับเพื่อนหรือสมาชิกในบ้าน ควบคุมตัวเองไม่ได้ที่จะเข้าไปเล่นเกม เช่น ตื่นนอนก็เล่น กลับถึงบ้านก็ตรงไปที่เครื่องเล่นเกม หรือเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อเล่นเกม หรือออกไปเล่นเกมที่ร้านอินเตอร์เน็ต แอบลุกขึ้นมาเล่นเกมตอนดึก ไม่สามารถควบคุมตนเองให้เล่นในเวลาที่กำหนด ใช้เวลาเล่นเกมติดต่อกันหลายชั่วโมงหรือเล่นนานขึ้นเรื่อยๆ ครุ่นคิดถึงแต่เรื่องเล่นเกม เป็นต้น 
ดร.พรรณสิริกล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายจะผลักดันให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กติดเกมเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้เกิดความร่วมมือหลายกระทรวง โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแก้ไขอย่างจริงจัง โดยมอบให้กรมสุขภาพจิตซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะจำนวนมาก เป็นหน่วยงานหลัก เพื่อวางระบบป้องกันแก้ไข ให้เยาวชนหันมาใช้อินเทอร์เน็ตให้เกิดประโยชน์ในการเรียน การที่เด็กติดเกมอาจเป็นเพราะพ่อแม่ ผู้ปกครองไม่ตัดไฟแต่ต้นลม ไม่กำหนดกติกาหรือฝึกเด็กให้มีวินัย เมื่อปล่อยเวลาเนิ่นนานไปจึงทำให้เด็กเกิดความเคยชิน กลายเป็นเด็กติดเกม ควบคุมตัวเองไม่ได้
 
ทางด้านนายแพทย์อภิชัย มงคล ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า หลักเกณฑ์การแก้ไขพฤติกรรมเด็กติดเกม ต้องค่อยเป็นค่อยไป ให้เวลาเด็กปรับตัว ที่สำคัญพ่อแม่ต้องเป็นกำลังใจให้ด้วย ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเสริมสร้างทักษะชีวิตให้กับเด็ก ส่งเสริมให้ความรู้กับพ่อแม่และครอบครัวในการดูแลเด็กติดเกม
นายแพทย์อภิชัย กล่าวต่อว่า ในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาของเด็กและเยาวชนที่เริ่มชอบหรือคลั่งไคล้ หรือติดเกมหรือใช้อินเทอร์เน็ต มีข้อแนะนำผู้ปกครอง 10 ข้อ ดังนี้ 1. ให้เริ่มสร้างวินัยและความรับผิดชอบให้เด็กตั้งแต่ยังเล็ก 2. ลดโอกาสให้เด็กเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต 3. ใช้มาตรการทางการเงิน โดยจำกัดจำนวนและความถี่ของการให้เงิน ให้เด็กทำงานแลกกับเงิน 4. รับฟังและพูดดีต่อเด็ก 5. ชื่นชม ให้กำลังใจเด็ก โดยขยันมองเห็นด้านดีหรือด้านบวกในตัวลูกแม้จะเล็กน้อยก็ตาม 6. ร่วมกำหนดกติกาอย่างเป็นรูปธรรม และบังคับใช้อย่างเข้มแข็ง แต่อ่อนโยน 7. มีทางออกที่สร้างสรรค์ให้เด็ก 8. สร้างรอยยิ้มเล็กๆในครอบครัว 9. ควบคุมอารมณ์และสร้างความสุขเล็กๆในใจของพ่อแม่เอง และ10. เริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเราก่อนทันที เช่น ลดการทะเลาะกัน ลดการดื่มเหล้า เปลี่ยนเป็นคำชื่นชมแทนการตำหนิ 
ขณะนี้กรมสุขภาพจิต มีโครงการและกิจกรรมต่างๆสำหรับพ่อแม่และเด็ก โดยเปิดคลินิกบำบัดปัญหาเด็กติดเกม เป็นกิจกรรมกลุ่มเพื่อก่อให้เกิดการปรับความคิดและพฤติกรรม พร้อมกับฝึกการสื่อสารและการแก้ปัญหาสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมงติดต่อกัน 8 สัปดาห์ เพื่อให้เด็กและผู้ปกครองเข้าร่วมกิจกรรมด้วย 3 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีโครงการอบรมเทคนิคการดูแลเด็กติดเกมเบื้องต้นสำหรับผู้ปกครอง การเข้าค่ายครอบครัวป้องกันปัญหาเด็กติดเกม และค่ายพัฒนาศักยภาพป้องกันปัญหาเด็กติดเกม สามารถสอบถามการเข้าร่วมกิจกรรมและรายละเอียดได้ที่ โทรศัพท์หมายเลข 0-23548305-7 ในวันและเวลาราชการ และรับบริการปรึกษาปัญหาทางโทรศัพท์ ในวันจันทร์- ศุกร์ตั้งแต่เวลา 08.30 16.00 น. ทางโทรศัพท์หมายเลข 0-23548300 นอกเวลาราชการ วันหยุดนักขัตฤกษ์ โทรศัพท์ 081 9002521      
  ********************************************* 7 ตุลาคม 2553


   
   


View 3       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ