กระทรวงสาธารณสุข คาดโทษผู้ประกอบการ ผู้จำหน่ายลูกชิ้นที่ยังไม่ติดฉลากตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หากตรวจพบอีกจะจับปรับทันที 30,000 บาท และตามตรวจมาตรฐานโรงงานต้นตอ เผยผลการสุ่มตรวจในเขตกทม.และปริมณฑล 13 แห่ง เมื่อเดือนมิถุนายน 2553 พบมีผู้ปฏิบัติถูกต้องน้อยมาก เพียงร้อยละ 8 เท่านั้น นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข ห่วงใยความปลอดภัยประชาชนในการบริโภคลูกชิ้น ซึ่งเป็นอาหารสำเร็จรูปยอดนิยมของคนไทย หลังจากที่มีข่าวพบลูกชิ้นเรืองแสง ประชาชนไม่กล้าบริโภค ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดให้ลูกชิ้นเป็นสินค้าที่ต้องติดฉลากผลิตภัณฑ์ให้ถูกต้อง และส่งหนังสือแจ้งเวียนให้ผู้ผลิต/นำเข้าผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งสถานที่ผลิต การขออนุญาตผลิตอาหาร การใช้วัตถุเจือปนอาหาร และการแสดงฉลากผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ให้ถูกต้องเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2553 และให้ปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน พร้อมทั้งแจ้งให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ตรวจสอบเฝ้าระวังภายในจังหวัด หากพบการฝ่าฝืนให้ดำเนินการตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 นายบุณย์ธีร์กล่าวต่อว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้ อย.สุ่มตรวจสอบสถานที่จำหน่ายลูกชิ้น เมื่อวันที่ 14-16 มิถุนายน 2553 ในกทม.และปริมณฑล 13 แห่ง โดยตรวจทั้งหมด 288 ตัวอย่าง พบไม่มีฉลาก 11 ตัวอย่างหรือร้อยละ 4 มีฉลากแต่ฉลากไม่ถูกต้อง 252 ตัวอย่างหรือร้อยละ 88 โดยแสดงฉลากถูกต้องเพียง 25 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 8 สถานที่ผลิตในกทม. 2 แห่ง ที่เหลือผลิตในต่างจังหวัด ได้ส่งเรื่องให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดที่มีสถานที่ผลิตตั้งอยู่ ดำเนินการตามกฎหมายแล้ว และต่อจากนี้ไป หากเจ้าหน้าที่อย. ตรวจพบว่าลูกชิ้นที่จำหน่ายยังไม่แสดงฉลากให้ถูกต้อง จะลงโทษตามกฎหมายโดยไม่ละเว้น ทั้งผู้จำหน่าย ผู้ผลิต โดยปรับไม่เกิน 30,000 บาท นอกจากนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่ อย. ทั้งในกทม.และต่างจังหวัด ติดตามตรวจสอบกระบวนการผลิตที่โรงงานด้วย ขณะนี้มีโรงงานที่ผลิตลูกชิ้นทั่วประเทศประมาณ 150 แห่ง เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาอาหารไม่ปลอดภัยได้ทั้งระบบ ขอย้ำเตือนประชาชน ให้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์ เช่นลูกชิ้น ไส้กรอก อย่างระมัดระวัง ซื้อจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ อ่านฉลาก เพื่อมั่นใจว่าจะได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย มีประโยชน์ต่อร่างกาย สำหรับโทษตามพระราชบัญญัติอาหารพ.ศ. 2522 มีดังนี้ 1.สถานที่ผลิตอาหารเข้าข่ายโรงงาน ไม่มีใบอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ 2.สถานที่ผลิตต้องผ่านเกณฑ์ จีเอ็มพี หากฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 10,000 บาท 3.แสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับ 30,000 บาท 4.พบการใช้วัตถุเจือปนอาหารไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ปรับไม่เกิน 20,000 บาท 5.พบสารเคมีห้ามใช้ เช่น บอแรกซ์ มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และเข้าข่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 6.หากตรวจพบจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค จัดเป็นอาหารผิดมาตรฐาน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท และอาหารไม่บริสุทธิ์ จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 7.หากตรวจพบนำเนื้อปลาปักเป้ามาเป็นส่วนผสม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 บาทถึง 20,000 บาท ***************************************************** 2 ตุลาคม 2553


   
   


View 13    02/10/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ