ตรวจเลือดเด็กแรกเกิดทุกรายค้นหาภาวะขาดสารไอโอดีน ส่วนเกลือบริโภค น้ำปลา ซีอิ๊ว เต้าเจี้ยว ซอสปรุงรส ที่จำหน่ายในประเทศต้องเติมสารไอโอดีน และติดฉลากแสดง 

วันนี้ (1 ตุลาคม 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานแถลงข่าว “เพิ่มไอโอดีน เพิ่มไอคิว ว่า วันนี้เป็นวันที่มีความสำคัญของวงการสาธารณสุข เป็นวันที่ประกาศของกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ 4 กลุ่ม ได้แก่เกลือบริโภค น้ำปลา น้ำเกลือปรุงอาหารและผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ได้จากการย่อยโปรตีนของถั่วเหลือง ได้แก่ ซีอิ๊ว เต้าเจี้ยว ซอสปรุงรส ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ว่าต้องเติมสารไอโอดีนในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
 
          นายจุรินทร์ กล่าวว่า ผลสำรวจสภาวะสุขภาพของคนไทย โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ปี 2552 พบว่าไอคิวเด็กไทยเฉลี่ย  91 จุด ในขณะที่มาตรฐานสากลอยู่ที่ 90-110 จุด ซึ่งไอคิวเด็กไทยอยู่ในมาตรฐานขั้นต่ำสุดเป็นสัญญาณเตือนให้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง  ในส่วนของหญิงตั้งครรภ์ พบว่าร้อยละ 60 มีระดับไอโอดีนในปัสสาวะต่ำกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดคือไม่เกินร้อยละ 50  ซึ่งการขาดไอโอดีนจะทำให้ทารกที่คลอดมา  เสี่ยงพิการ และเสี่ยงปัญญาอ่อนหากขาดรุนแรง
                  
                  
 
          ทั้งนี้ผลการสำรวจพัฒนาการเด็กสมวัย โดยกรมอนามัย  พบว่ามีตัวเลขมีแนวโน้มต่ำลง โดยในปี 2542 มีเด็กที่พัฒนาการสมวัยร้อยละ 71  ส่วนปี 2550 ลดลงเหลือร้อยละ 67  สาเหตุทั้งหมด องค์การอนามัยโลก องค์กรยูนิเซฟและกระทรวงสาธารณสุข จึงมีความเห็นสอดคล้องเช่นเดียวกับคณะกรรมการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติที่มีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเป็นองค์ประธาน ว่าสาเหตุสำคัญประการหนึ่งเกิดมาจากการขาดสารไอโอดีน
 
          นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ในการแก้ไขปัญหาการขาดสารไอโอดีน กระทรวงสาธารณสุขได้มุ่งเน้นใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ โดยตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไป จะให้บริการไอโอดีนเม็ด ที่มีสารสำคัญ 3 ตัว คือ ไอโอดีน เหล็ก และโฟเลทอยู่ในเม็ดเดียวกัน โดยองค์การเภสัชกรรมจะเป็นผู้ผลิตและกระจายไปยังโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ ได้แก่ ระบบสวัสดิการข้าราชการ ระบบประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 48 ล้านคน โดยล๊อตแรกผลิต 1 ล้าน 2 แสนเม็ด จะเริ่มให้หญิงตั้งครรภ์รายใหม่ทุกราย  และอีก 2 สัปดาห์จะเริ่มให้ในหญิงตั้งครรภ์ที่เหลือทั้งหมด ซึ่งแต่ละปีมีหญิงตั้งครรภ์ปีละประมาณ 800,000 คน
                                   
กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มเด็กแรกเกิด จะมีการตรวจเลือดเพื่อดูระดับไอโอดีนทุกราย  หากพบขาดไอโอดีน แพทย์จะต้องแก้ปัญหาให้ทันท่วงที เพื่อป้องกันภาวะขาดไอโอดีน ซึ่งจะมีผลกระทบไอคิวและพัฒนาการที่ไม่สมวัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และกลุ่มที่ 3.คือบุคคลทั่วไป จะใช้นโยบายเกลือเสริมไอโอดีนถ้วนหน้า สอดคล้องกับแนวทางขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดไว้
 
โดยได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ 4 กลุ่ม จำนวน 4 ฉบับ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2553  ประกอบด้วย ประกาศฯเรื่องน้ำเกลือปรุงอาหาร น้ำปลา เกลือบริโภค และผลิตภัณฑ์ปรุงรส  ที่ได้จากการย่อยโปรตีนของถั่วเหลือง และในวันนี้ประกาศฯทั้ง 4 ฉบับได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว จะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจานุเบกษา  
 
นายจุรินทร์ กล่าวต่ออีกว่า ผลิตภัณฑ์ทั้ง 4 กลุ่ม ต้องมีไอโอดีนตามมาตรฐานที่กำหนด คือเกลือเพื่อการบริโภคที่จำหน่ายในประเทศ ต้องมีปริมาณไอโอดีนไม่น้อยกว่า 30 มิลลิกรัมต่อเกลือบริโภค 1 กิโลกรัม  ส่วน น้ำปลา น้ำเกลือปรุงอาหาร และผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ได้จากการย่อยโปรตีนจากถั่วเหลือง กำหนดให้มีปริมาณไอโอดีนไม่น้อยกว่า 2 - 3 มิลลิกรัมต่อลิตร  และต้องแสดงฉลากระบุว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้เสริมไอโอดีนด้วย ซึ่งจะให้เวลาโรงงานและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ทั้ง 4 กลุ่ม ปรับปรุงระบบการผลิตภายใน 90 วัน  และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 เป็นต้นไป หากไม่ปฏิบัติตามประกาศฯดังกล่าว  ถือว่ามีความผิด
                                  
ขณะนี้ทั่วประเทศ มีโรงงานผลิตเกลือ 192 แห่ง เป็นโรงงานขนาดใหญ่ 3 แห่ง ขนาดกลาง 56 แห่ง และขนาดเล็ก 133 แห่ง โดยโรงงานขนาดใหญ่และกลาง พบว่ามีการปรับปรุงกระบวนการผลิตเติมไอโอดีนแล้ว ส่วนโรงงานขนาดเล็กเติมแล้ว 38 แห่ง ที่เหลือต้องเร่งปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน โดยมอบให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  เข้าไปตรวจโรงงานดูมาตรฐานการผลิต ว่ามีการเติมเกลือจริงหรือไม่
 
 และตั้งแต่มกราคม 2554 ถึง 30 กันยายน  2554 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จะออกเก็บตัวอย่างเกลือบริโภค 4,000 ตัวอย่าง และเก็บน้ำปลา น้ำเกลือปรุงอาหาร และผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ได้จากการย่อยโปรตีนจากถั่วเหลืองอีก 2,000 ตัวอย่าง ส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์   หากตรวจพบว่าเกลือบริโภคที่จำหน่ายไม่เติมไอโอดีน จะเข้าข่ายอาหารปลอมหรือเรียกง่ายๆ ว่าเกลือปลอม มีโทษจำคุก 6 เดือน – 10 ปี  ปรับ 5,000 – 100,000 บาท
 
ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเตรียมความพร้อมทุกจังหวัด ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเร๊นท์เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2553 ที่ผ่านมา และขอให้อสม.รณรงค์ให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่อยู่ในหมู่บ้าน รับผิดชอบให้ไปฝากครรภ์ เพื่อให้ได้รับยาเม็ดไอโอดีนอย่างครบ โดยให้กินวันละ 1 เม็ด หลังอาหาร เพื่อให้เด็กได้รับไอโอดีนและสารโฟเลทและธาตุเหล็กอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไอโอดีนจะเป็นตัวเพิ่มสติปัญญาเด็ก สารโฟเลทจะช่วยให้หลอดประสาทปิดและป้องกันปากแหว่งเพดานโหว่ ส่วนธาตุเหล็ก จะเสริมด้านการเจริญเติบโตของเด็กในครรภ์ ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับที่ทั่วโลกใช้      ในส่วนของเด็กแรกเกิดทุกราย จะให้โรงพยาบาลทุกแห่งเจาะเลือดตรวจดูระดับฮอร์โมนกระตุ้นการทำงานของต่อมไธรอยด์ หากพบว่าสูงกว่า 25 มิลลิยูนิตต่อลิตร แสดงว่าเด็กขาดฮอร์โมนชนิดนี้ จะต้องให้ฮอร์โมนไธรอยด์กินทันที ก็จะสามารถป้องกันปัญหาขาดสารไอโอดีนได้    
  ********************************************** 1 ตุลาคม 2553
 
 


   
   


View 16    01/10/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ