กระทรวงสาธารณสุขเร่งคุ้มครองภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านไม่ให้สูญหาย เปิดไฟเขียวหมอพื้นบ้านที่เรียนรู้จากบรรพบุรุษมีประสบการณ์รักษาคนป่วยยาวนานกว่า 20 ปี จำนวน 16,000 คน ซึ่งตกอยู่ในสถานภาพหมอเถื่อน ให้ได้รับใบอนุญาตและประกอบโรคศิลปะได้ตามกฎหมาย โดยใช้วิธีประเมินคุณภาพไม่ต้องสอบ ปีนี้ตั้งเป้า 1,000 คน สมัครเพียง 641 คน จะประเมินรุ่นแรกในเดือนกันยายน ที่เหลือเร่งให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้
วันนี้ (21กันยายน 2553) ที่ โรงแรมอมารี แอร์พอร์ท กทม. ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการหมอพื้นบ้านที่มีประสบการณ์ด้านการรักษาตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป จำนวน 200 คนจาก 76 จังหวัด จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-21 กันยายน 2553 เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถให้พร้อมที่ได้รับการประเมินรับรองและขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนไทย ตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542
ดร.พรรณสิริกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและสมุนไพรไทยให้มีบทบาทในการพัฒนาสุขภาพและนำมาใช้แก้ไขปัญหาการเจ็บป่วยประชาชนมากขึ้น ขณะเดียวกันได้เร่งแก้ไขข้อจำกัดโดยเฉพาะกลุ่มของหมอพื้นบ้านที่ยังไม่ผ่านการประเมินตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542 ทำให้กลายเป็นหมอเถื่อน ทั้งที่ได้เรียนรู้และถ่ายทอดประสบการณ์การดูแลการเจ็บป่วยด้านการแพทย์พื้นบ้านและสมุนไพรจากบรรพบุรุษสืบต่อกันมาซึ่งขณะนี้ทั่วประเทศมีทั้งหมด 47,790 คน จัดเป็นขุมทรัพย์ด้านภูมิปัญญาไทยของประเทศ ให้สามารถเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะตามกฎหมายได้ เพื่อเป็นการคุ้มครองภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านไม่ให้สูญหายไป และให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นที่พึ่งทางเลือกและปลอดภัยต่อผู้ใช้บริการ
ดร.พรรณสิริกล่าวต่อว่า ในการแก้ปัญหาหมอพื้นบ้านเถื่อน ตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542 คณะกรรมการวิชาชีพ สาขาการแพทย์แผนไทย ได้กำหนดคุณสมบัติให้หมอพื้นบ้านที่มีประสบการณ์ตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ให้มีสิทธิขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทย โดยใช้วิธีการประเมิน ไม่ต้องสอบ จนถึงปัจจุบันมีหมอพื้นบ้านที่มีคุณสมบัติดังกล่าวจำนวน 16,000 คน แต่ผ่านการประเมินจากกองประกอบโรคศิลปะเพียง 44 คน ซึ่งน้อยมากมีไม่ถึงร้อยละ 1 ของหมอพื้นบ้านทั้งหมด เสียชีวิตแล้ว 5 คน เหลือเพียง 39 คน จึงต้องช่วยเหลือและพัฒนาเข้าสู่ระบบการประเมิน โดยในปี 2553 นี้ ตั้งเป้ายกระดับหมอพื้นบ้านกลุ่มนี้ ให้มีใบประกอบโรคศิลปะให้ได้ 1,000 คน ขณะนี้มีหมอพื้นบ้านขอขึ้นทะเบียนเพื่อขอประเมินรับใบประกอบโรคศิลปะ 641คน โดยกองประกอบโรคศิลปะและกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย จะทำการประเมินรอบแรกภายในเดือนกันยายนนี้ จำนวน 200 คน ส่วนที่เหลือจะประเมินให้ครบในเดือนธันวาคม 2553
ส่วนหมอพื้นบ้านที่มีประสบการณ์ด้านการรักษาตั้งแต่ 5-19 ปี จำนวน 14,000 คน จะให้มีการรับรองสถานภาพเป็นหมอพื้นบ้านในฐานะผู้ช่วยในการรักษา ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์แผนปัจจุบันหรือนักการ แพทย์แผนไทยประยุกต์ที่มีใบประกอบโรคศิลปะ คาดว่ากระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการให้หมอพื้นบ้านกลุ่มนี้ ได้รับการรับรองสถานภาพในต้นปี พ.ศ.2554 ทั้งนี้ วิธีการประเมินเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะตามกฎหมาย จะต้องเป็นไปตามหลักทางวิชาการทั้งวิธีการรักษา การใช้ยาสมุนไพร การดูแลผู้ป่วย
************************************************* 21 กันยายน 2553
View 22
21/09/2553
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ