รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยผลสำรวจด้านสุขภาพจิต พบคนไทยร้อยละ 38 หรือ 1 ใน 3 มีความวิตกกังวลกับเหตุการณ์ความรุนแรง การวางระเบิด และความแตกแยก โดยร้อยละ 29 ใช้วิธีปรับอารมณ์ให้ปกติโดยไม่นำปัญหามาคิด และหางานอดิเรกทำ ส่วนความคืบหน้าเยียวยาฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง มีผู้ได้รับการตรวจทางจิตใจแล้วกว่า 5 แสนคน พบร้อยละ 2 มีปัญหาจำนวน 12,000 กว่าคน
ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง และให้กรมสุขภาพจิตดำเนินการสำรวจสภาวะอารมณ์ทางการเมืองต่อเนื่อง ผลสำรวจล่าสุดทั้ง 4 ภาค เมื่อช่วงวันที่ 1-7 กันยายน 2553 พบว่าแนวโน้มลดลงทุกภาค ยกเว้นภาคเหนือยังมีอารมณ์รุนแรงสูงที่สุด และแนวโน้มยังเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 14 ในช่วง 21 -27 กรกฎาคม 2553 เป็นร้อยละ 22 ส่วนที่เหลือลดลง คือกทม.เหลือร้อยละ 21 ภาคกลางเหลือ ร้อยละ 18 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเหลือร้อยละ 16และภาคใต้ต่ำสุดเหลือร้อยละ 5
ดร.พรรณสิริกล่าวต่อว่า กรมสุขภาพจิตได้สำรวจข้อกังวลของประชาชนที่มีสภาวะทางอารมณ์ทางการเมืองในระดับปานกลางถึงรุนแรงต่อเนื่อง เพื่อวางแผนในการช่วยเหลือแก้ไข ผลสำรวจเมื่อช่วงวันที่ 1-7 กันยายน 2553 ที่ผ่านมา ใน 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือเรื่องความวิตกกังวลในปัญหาบ้านเมือง มีผู้ตอบแบบสอบถาม 783 คนกระจายทั่วประเทศ ผลปรากฏว่า ประชาชนร้อยละ 38 หรือประมาณ 1 ใน 3 มีความวิตกกังวลกับเหตุการณ์รุนแรง การวางระเบิด ความแตกแยกทางการเมือง วิตกกังวลด้านเศรษฐกิจ ปากท้อง ของแพง ตกงานร้อยละ 14
กลุ่มที่ 2 ถามเรื่องวิธีการปรับอารมณ์ให้เป็นปกติในสถานการณ์ปัจจุบัน กลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 897 คน พบว่า วิธีที่กลุ่มตัวอย่างเลือกใช้มากที่สุดคือการไม่ใส่ใจปัญหา ไม่นำเรื่องมาคิด ไม่ใส่ใจ ร้อยละ 29 รองลงมาใช้ใช้วิธีหางานอดิเรกทำ ร้อยละ 18 วางใจเป็นกลาง ร้อยละ 14 พูดคุยระบายความในใจและอยู่กับครอบครัวร้อยละ 5 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้เปิดสายด่วนสุขภาพจิต เพื่อให้คำแนะนำปรึกษาประชาชนตลอด 24 ชั่วโมงทางหมายเลข 1667
ทางด้านนายแพทย์วิชระ เพ็งจันทร์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผลการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการตามชุมชนต่างๆในจังหวัดเป้าหมายใน 4,804 ตำบล ใน 42 จังหวัด จนถึงปลายเดือนสิงหาคม 2553 ปรากฎว่าบรรลุผลไปกว่าร้อยละ 50 โดยได้ตรวจสุขภาพกายไปแล้ว 23,237 ราย ส่วนใหญ่ไม่พบปัญหาสุขภาพดี ส่วนผลการตรวจสภาพจิตใจ จำนวน 52,433 ราย พบมีปัญหาสุขภาพจิตจำนวน 12,056 ราย หรือประมาณร้อยละ 2 ปัญหาที่พบมากที่สุดคือวิตกกังวลจำนวน 8,232 ราย รองลงมาคือมีอาการซึมเศร้าจำนวน 2,640 ราย
ส่วนผลการเยี่ยมบุคคลและครอบครัว ของผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุชุมนุม ได้เยี่ยมไปทั้งหมด 52,433 ราย พบว่ามีปัญหาสุขภาพจิต 4,086 ราย โรคที่พบมากที่สุดได้แก่ โรควิตกกังวลจำนวน 2,341 ราย รองลงมาคือโรคซึมเศร้าจำนวน 1,337 ราย เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 223 ราย และโรคเครียดรุนแรงหลังวิกฤตหรือโรคพีทีเอสดี (PTSD)จำนวน 70 ราย ทีมสุขภาพจิตได้ให้คำปรึกษาดูแลใกล้ชิดอย่างต่อเนื่อง
******************************* 19 กันยายน 2553
View 15
19/09/2553
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ