รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ย้ำเตือนประชาชนที่อยู่ในจุดที่มีน้ำท่วมขังสูงระดับเอว หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรแต่งกายให้รัดกุม  สวมกางเกงในและกางเกงขายาว รัดข้อเท้าเพื่อป้องกันปลิงเข้าในกางเกง ไชเข้าทวารหนัก อวัยวะเพศ และท่อปัสสาวะ 

จากที่มีข่าวว่าประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมที่ตำบลโพธิ์เหนือ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี  ซึ่งอยู่ตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยา พบปลิงควายออกอาละวาดดูดเลือดนั้น วันนี้(10กันยายน 2553)ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ปัญหาเรื่องปลิงมักจะพบในช่วงที่ประสบภัยน้ำท่วม โดยทั่วไปปลิงมักจะอาศัยอยู่ในน้ำนิ่งตามหนองน้ำ ลำธารทั่วๆ ไปอยู่แล้ว  แต่พอมีน้ำท่วมปลิงก็จะว่ายออกไปตามน้ำท่วมได้ โดยปลิงเป็นสัตว์ดูดเลือด ดังนั้นจึงขอเตือนประชาชน โดยเฉพาะเด็กๆไม่ควรลงเล่นน้ำท่วม เพราะอาจถูกปลิงไชเข้าตามอวัยวะต่างๆ ได้ เช่นรูทวารหนักช่องคลอด รูปัสสาวะได้
ดร.พรรณสิริ กล่าวว่า ในการป้องกันปลิงที่มากับน้ำท่วม หากเป็นไปได้ขอให้ประชาชนใช้วิธีเดินทางโดยเรือแต่หากไม่มีเรือและจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ โดยเฉพาะจุดที่มีน้ำท่วมสูงระดับเอวขึ้นไปขอให้แต่งตัวให้รัดกุม ควรสวมกางเกงใน  สวมกางเกงขายาว และสวมถุงพลาสติกหุ้มเท้าและหุ้มปลายขากางเกงทั้ง 2ข้าง แล้วรัดด้วยเชือกหรือยางเพื่อป้องกันไม่ให้ปลิงเข้าไปในกางเกงได้
ทางด้านนายสัตวแพทย์หญิงอภิรมย์ พวงหัตถ์ นายสัตวแพทย์กรมควบคุมโรค กล่าวว่า โดยทั่วไป ปลิงมี 2ชนิด คือ ปลิงควายหรือปลิงเข็มและปลิงน้ำ โดยปลิงน้ำนั้น จะเข้าทางตา รูจมูก หรือปากได้จากการดื่มน้ำหรือล้างหน้าในลำธารที่มีปลิงอยู่ ปลิงจะเข้าสู่หลอดคอหลอดอาหารหรือที่หลอดลมได้อย่างรวดเร็ว จะทำให้มีเลือดกำเดาออกไอหรืออาเจียนเป็นเลือด ทำให้เสียเลือดมากถ้าหากปลิงเกาะอยู่ในโพรงจมูกอาจทำให้ปวดศีรษะเป็นเวลานาน  ถ้าเกาะอยู่ในกล่องเสียงจะทำให้ไอเป็นเลือด หายใจไม่ออกนอกจากนี้ปลิงยังอาจเข้าไปทางช่องคลอด ทวารหนักหรือท่อปัสสาวะของคนที่ลงอาบน้ำในลำธารได้
นายสัตวแพทย์หญิงอภิรมย์ กล่าวต่อว่า ขณะที่ปลิงกัดหรือดูดเลือด  จะปล่อยสารออกมา 2ชนิด ได้แก่ สารฮีสตามีน(Histamine)ช่วยกระตุ้นให้หลอดเลือดขยายตัว และสารฮีรูดีน(Hirudin) มีคุณสมบัติต่อต้านการแข็งตัวของเลือด  ทำให้เลือดไม่แข็งตัวและเสียเลือดเรื่อยๆมีการศึกษาทางห้องปฏิบัติการพบว่า พวกปลิงดูดเลือด 1 ครั้ง จะมีชีวิตอยู่ได้นานหลายเดือนประมาณ 5เดือนและหากปลิงไชเข้าไปในลำไส้ใหญ่ และทะลุลำไส้ จะทำให้ช่องท้องอักเสบ แต่พบได้น้อยมาก 
   *******************************************   10 กันยายน 2553


   
   


View 16    10/09/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ