สาธารณสุข เผยตลาดสินค้าประเภทต้านริ้วรอย ชะลอวัย และคงความงาม ในตลาดโลกเฟื่อง ในปี 2553 คนทั่วโลกใช้จ่ายซื้อสินค้าประเภทชะลอวัย และส่งเสริมสุขภาพที่ดีมากเกือบ 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนไทยควักมากกว่า 56,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นรายจ่ายด้านฟิตเนสและสปากว่า 12,000 ล้านบาท ศัลยกรรมและทำทรีทเมนต์กว่า 11,000 ล้านบาท โดยพบกลุ่มรุ่นเบบี้บูมเมอร์อายุ 46-64 ปี เป็นกลุ่มที่รุกหาความรู้ดูแลสุขภาพสม่ำเสมอและมีกำลังในการซื้อสูง

 วันนี้(2 กันยายน 2553) ที่โรงแรมพลาซ่า แอททินี กรุงเทพ. ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพระดับนานาชาติ ครั้งที่ 2 จัดระหว่างวันที่ 2-4 กันยายน 2553 โดยบริษัท เอ โฟร์ เอ็ม(A4M )ประเทศไทย จำกัด เพื่อนำเสนอเนื้อหาและเจาะลึกวงการเวชศาสตร์ชะลอวัย (ANTI-AGING) การรักษาสุขภาพที่ดีและการคงความหนุ่มความสาวไว้ พร้อมแสดงผลิตภัณฑ์เทคโนโลยี และให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการชะลอวัยและบริการทางการแพทย์ เพื่อป้องกันการเกิดโรค การบริการและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับวงการสุขภาพ โดยมีแพทย์และผู้เชี่ยวชาญทางด้านเวชศาสตร์จาก 40 ประเทศทั่วโลก เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย มาเลเซียฯลฯ เข้าร่วมประชุมกว่า 500 คน
ดร.พรรณสิริกล่าวต่อว่า ขณะนี้ทั่วโลกให้ความสนใจการดูแลสุภาพ โดยเฉพาะแสวงหาการชะลอวัยเพื่อ ให้มีสุขภาพดี และต้องการที่จะมีอายุยืนยาวมีสุขภาพแข็งแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลในปี 2553นี้ พบว่ามูลค่าผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการชะลอวัย  ซึ่งประกอบด้วย ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วิตามิน เครื่องสำอาง ที่ใช้บำรุงและรักษาอาการที่เกี่ยวข้องในตลาดโลกมีอัตราการเติบโตสูงเฉลี่ยร้อยละ 18-20 ต่อปี คาดว่าในปีนี้จะมีมูลค่ามากถึง 291,000 ล้านเหรียญ   ซึ่งกลุ่มเป้าหมายตลาดประเภทนี้ จะเริ่มตั้งแต่กลุ่มวัยทำงานอายุ 30-50 ปี และกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ที่เริ่มเข้าสู่ช่วงอายุ 46- 64 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการศึกษาหาความรู้ในการดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ และมีกำลังซื้อสูงด้วย  
ดร.พรรณสิริ กล่าวต่อไปว่า สำหรับไทย ในปี 2553 นี้ คนไทยมีค่าใช้จ่ายซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพประเภทดังกล่าวรวมกว่า 56,000 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายบริการออกกำลังกายและสปามูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาท การรักษาสุขภาพที่ดีและศัลยกรรมและทำทรีทเมนต์เพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีมีมูลค่ากว่า 11,000 ล้านบาท ทุกตลาดเติบโตอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 18-20 ต่อปี มีทั้งกลุ่มคนปกติเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และผู้ป่วยที่ต้องการฟื้นฟูรักษา
                
ทั้งนี้ ในปี 2553 กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาลนานาชาติ ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมและมีศักยภาพทัดเทียมกับสากล เนื่องจากขณะนี้ไทยมีชื่อเสียงด้านการแพทย์แบบองค์รวม ที่ประสานศาสตร์แขนงต่างๆเข้าด้วยกัน ทั้งเทคโนโลยีการตรวจรักษาโรคที่ทันสมัย มีการบำบัดควบคู่ทั้งกายและใจ นอกจากนี้ยังมีนโยบายด้านธุรกิจการส่งเสริมสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทย และสมุนไพรต่างๆ มาใช้ดูแลสุขภาพ เช่น สปา เป็นต้น   ซึ่งสมุนไพรไทยขณะนี้มีหลายชนิดที่สามารถนำมา
ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ใช้ในการบำรุงสุขภาพได้ เช่น ขมิ้นชัน กระเทียม กระชายดำ จะเร่งให้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ศึกษาวิจัยสมุนไพร ซึ่งมีจำนวนมาก เพื่อส่งเสริมให้ใช้และผลิตเพื่อการส่งออกไปต่างประเทศด้วย ล่าสุดกองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ให้ทุนศึกษาวิจัยสมุนไพร 2 ชนิดร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือ สารสกัดเปลือกมังคุด เพื่อใช้บำรุงสมองในผู้ป่วยสมองเสื่อมจากอัลไซเมอร์ และปัญจขันธ์ ใช้ลดระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งจากการวิจัยในขั้นตอนหลอดทดลอง พบว่าได้ผล ขั้นตอนต่อไปจะศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลอง และในคน หากประสบผลสำเร็จและสามารถผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้ มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ไทยจะสามารถแข่งขันและเจาะตลาดโลกได้ 
******************************      2 กันยายน 2553


   
   


View 9    02/09/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ