วันนี้ ( 30 สิงหาคม 2553) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าของร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ซึ่งมีผู้เสนอความคิดเห็นให้ขยายการใช้มาตรา 41 ในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครอบคลุมถึงระบบประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการด้วย ว่า ประเด็นนี้อยู่ในความรับผิดชอบของสปสช.ที่จะเป็นผู้พิจารณาว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อกฎหมาย ซึ่งยังมีความเห็นไม่ตรงกัน บางฝ่ายบอกว่าสามารถดำเนินการได้ บางฝ่ายบอกว่าไม่สามารถดำเนินการได้ โดยจะติดตามความคืบหน้าเรื่องนี้ ในวันประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประมาณกลางเดือนกันยายนนี้
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าของการดำเนินการร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขที่ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์ในระบบบริการสาธารณสุข เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2553 มีนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะอำนวยการให้เกิดการประชุมหารือทั้ง 2 ฝ่าย นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ เป็นเลขานุการ คณะกรรมการประกอบด้วยผู้แทนทั้ง 2 ฝ่ายรวม 63 คน ได้แก่ 6 สภาวิชาชีพ คณะแพทย์สถาบันการแพทย์ เช่นศิริราชพยาบาล รามาธิบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้แทนแพทย์จากกรุงเทพมหานคร แพทย์สังกัดกระทรวงกลาโหม แพทย์จากโรงพยาบาลตำรวจ สมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย แพทย์จากกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย สมาคมโรงพยาบาลเอกชน สมาคมแพทย์คลินิกไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ และองค์กรอื่นๆ อีกหลายองค์กร รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ยังไม่ทราบเวลาที่แน่ชัดว่าจะเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อใด แต่บรรจุอยู่ในช่วงกลางๆ ของระเบียบวาระการประชุม ดังนั้น 2 ฝ่ายจึงยังมีเวลาหารือกัน หากเป็นไปได้ควรเร่งหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ ผลสรุปของการประชุมของทั้ง 2 ฝ่าย จะถือเป็นมติข้อตกลงร่วมกัน ไม่ใช้การลงมติโดยอาศัยเสียงข้างมาก ดังนั้นเรื่องจำนวนของแต่ละฝ่ายในคณะกรรมการจึงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ
ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์ในระบบบริการสาธารณสุข กล่าวว่า จะพยายามจัดประชุมคณะกรรมการฯโดยเร็ว ด้วยความรอบคอบเพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกันที่ชัดเจน ซึ่งได้พูดคุยกับฝ่ายแพทยในเรื่องการทำประชาพิจารณ์ระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและประชาชน เพื่อให้เกิดความสบายใจทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งสามารถทำได้ เพื่อให้เกิดข้อสรุปที่ดีที่สุดกับทุกฝ่าย
************************************ 30 สิงหาคม 2553
View 2
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ