สาธารณสุข เผยในปี 2568 คาดทั่วโลกมีผู้สูงอายุ 800 ล้านคน สำหรับไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2568 ซึ่งจะเพิ่มจำนวนจากร้อยละ 18 เป็นร้อยละ 22 โดยผู้สูงอายุ 1 ใน 3 จะมีผลกระทบด้านสุขภาพและสวัสดิการสังคม ร่วมมือกับไจก้า ของญี่ปุ่น เตรียมการรับมือจัดบริการเหมาะสม นำร่องแล้ว 4 จังหัด นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายเคียวโยจิ โคมะชิ (Mr. Kyoji KOMACHI) เอกอัคราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เปิดประชุมวิชาการโครงการพัฒนารูปแบบบริการสุขภาพและสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย เชิงบูรณาการโดยชุมชน ปี 2553 ที่โรงแรมมารวย การ์เด้น กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และรัฐบาลญี่ปุ่น โดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นหรือไจก้า (JICA) เป็นผู้สนับสนุนทางด้านวิชาการ เพื่อเผยแพร่กิจกรรมโครงการแก้ไขสภาวการณ์เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วของประเทศไทย และนำเสนอโครงการและกิจกรรมในพื้นที่นำร่อง 4 ภาคๆละ 1 จังหวัด คือ เชียงราย นนทบุรี ขอนแก่นและสุราษฎร์ธานี และได้มอบรถเข็นให้ผู้สูงอายุในพื้นที่ 4 จังหวัด 150 คันด้วย นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า ขณะนี้ทุกประเทศต้องเตรียมเผชิญผลกระทบของภาวะสังคมผู้สูงอายุอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในปี 2568 คาดว่าจะมีผู้สูงอายุทั่วโลกมากกว่า 800 ล้านคน 2 ใน 3 อยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา สำหรับไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2568 คาดจะใช้เวลาเพียง 22 ปี โดยจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 18 เป็นร้อยละ 26 ของประชากรทั้งหมด และ 1 ใน 5 จะมีผลกระทบด้านสุขภาพและสวัสดิการสังคม ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากในการเตรียมผู้ดูแล การจัดบริการ และการพัฒนาประเทศในภาพรวม นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อไปว่า โครงการความร่วมมือไทยกับญี่ปุ่นครั้งนี้นับเป็นความร่วมมือที่ดี เนื่องจากญี่ปุ่นได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์เมื่อพ.ศ. 2537 โดยมีระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี 2551-2554 มีการแต่งตั้งคณะกรรมการทั้งระดับชาติ ระดับจังหวัด ตำบลและหมู่บ้าน โดยใช้ชุมชนเป็นหลัก ปีแรกเป็นการศึกษาข้อมูลผู้สูงอายุในพื้นที่นำร่อง และศักยภาพของพื้นที่ในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ปีที่ 2-4 จัดทำแผนยุทธศาสตร์บูรณาการสุขภาพและสวัสดิการสังคม จัดทำแผนเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุ และสวัสดิการสังคมอย่างเหมาะสม และดำเนินการตามแผนโดยชุมชน ซึ่งมีการสนับสนุนทรัพยากรด้านต่างๆ และการพัฒนาบุคลากรให้เหมาะสมกับกิจกรรม และการประเมินผล เมื่อเสร็จสิ้นโครงการ จะสรุปผลการดำเนินงานเสนอผู้บริหารระดับสูง เพื่อเสนอเป็นนโยบายของรัฐบาล ในการจัดบริการสำหรับผู้สูงอายุ และศักยภาพของชุมชนในการป้องกัน แก้ไขปัญหาของผู้สูงอายุอย่างครอบคลุม มีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับผู้สูงอายุแต่ละภาค ตั้งเป้าในเดือนตุลาคม 2557 จะมีตำบลร้อยละ 15 ของจังหวัดนำร่อง มีการขยายผล และบูรณาการงานนี้รองรับปัญหาผู้สูงอายุในพื้นที่ ทั้งนี้ โครงการที่ทำในแต่ละพื้นที่มีดังนี้ ภาคเหนือที่จังหวัดเชียงราย เน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ป้องกันภาวะแทรกซ้อนในผู้สูงอายุที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ภาคอีสาน ที่จังหวัดขอนแก่น เน้นการแก้ปัญหาด้านสุขภาพตา และฟัน ทำให้ผู้สูงอายุจำนวนมากรอดพ้นจากภาวะตาบอด และมีการใส่ฟันปลอมให้ผู้สูงอายุโดยทีมทันตแพทย์ในชุมชนเป็นแห่งแรกของประเทศ ภาคกลางที่จังหวัดนนทบุรี ได้ตั้งศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้สูงอายุในชุมชน และภาคใต้ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดหน่วยเคลื่อนที่ดูแลผู้สูงอายุในชุมชน **************************************22 สิงหาคม2553


   
   


View 9    22/08/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ