สาธารณสุข เผยปริมาณยุงลายในปีนี้มีมาก ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2553 มีประชาชนถูกยุงกัดและป่วยเป็นไข้เลือดออกแล้ว 54,592 ราย ป่วยเพิ่มเฉลี่ยวันละ 230 ราย เสียชีวิต 63 ราย ขอความร่วมมือ 20 ล้านครัวเรือน ช่วยกันฆ่าลูกน้ำยุงลายในบ้านและรอบๆบริเวณบ้าน เป็นวิธีลดปริมาณยุงลายที่ได้ผลดีที่สุด
วันนี้ ( 14 สิงหาคม 2553) ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดงาน “เวทีไทต้านภัยไข้เลือดออก” ที่เวทีคอนเสิร์ตเวทีไท พระประแดงอาเขต จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อให้ศิลปินนักร้องไทยเป็นสื่อกลางในการสื่อสารความห่วงใยไปยังแฟนเพลง ประชาชนคนไทยทั่วประเทศ ร่วมกันป้องกันโรคไข้เลือดออก ซึ่งจะแพร่ระบาดมากในช่วงฤดูฝนนี้
ดร.พรรณสิริ กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออกในปี 2553 นี้มีแนวโน้มสูงขึ้นมาก สถิติการระบาดเพิ่มสูงกว่าปี 2552 ในช่วงเวลาเดียวกันถึงร้อยละ 83 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2553 จนถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2553 มีผู้ป่วยไข้เลือดอออกสะสม 54,592 ราย เสียชีวิต 63 ราย เฉลี่ยต่อวันจะพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม 230 ราย จำนวนผู้ป่วยในสัปดาห์นี้ เพิ่มจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 6,078 ราย เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทุก 1 แสนคนของแต่ละภาค พบว่าภาคใต้มีอัตราป่วยสูงที่สุด แสนละ 162 คน มีผู้ป่วย 14,361 ราย รองลงมา คือ ภาคเหนือแสนละ 75 คน มีผู้ป่วย 8,843 ราย ภาคกลางแสนละ 74 คน มีผู้ป่วย 15,871 ราย และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แสนละ 72 คน มีผู้ป่วย 15,517 ราย และ โดยพบผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 28 วัน จำนวน 7 ราย และพบผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปป่วยรวม 409 ราย การที่ปีนี้มีผู้ป่วยมากชี้ให้เห็นว่าปริมาณยุงลายซึ่งเป็นตัวการแพร่เชื้อโรคไข้เลือดออก ทั้งที่อยู่ในบ้านและนอกบ้านมีมาก ดังนั้นคนทุกวัยทุกเพศจึงมีความเสี่ยงป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกเท่ากัน
ดร.พรรณสิริ กล่าวต่อว่า ยุงลายมักออกกัดคนเวลากลางวัน บินไกลได้ราว 100 เมตร ผสมพันธุ์ครั้งเดียวก็สามารถวางไข่ได้ 4-6 ครั้ง ครั้งละประมาณ 50-150 ฟอง ช่วงชีวิตของยุงลายตัวเมียมีอายุประมาณ 2 เดือน ดังนั้นตลอดวงจรชีวิตยุงลายตัวเมีย 1 ตัว จะมีลูกประมาณ 500 ตัว ซึ่งยุงชนิดนี้ชอบอาศัยในบ้านและบริเวณรอบบ้าน ชอบวางไข่ในน้ำสะอาดใส นิ่ง เช่น ในภาชนะเก็บน้ำต่างๆ ไม่ชอบน้ำสกปรก เช่น ในท่อระบายน้ำ บ่อน้ำเสีย โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน มาตรการที่ดีที่สุดในการลดปริมาณยุงลายคือการกำจัดยุงตั้งแต่ยังเป็นลูกน้ำและยังอยู่ในภาชนะ ให้ใช้วิธีเทน้ำเก่าทิ้งและเปลี่ยนน้ำใหม่ทุก 7 วัน เพื่อฆ่าลูกน้ำไม่ให้กลายเป็นตัวยุง อย่าใช้วิธีเติมน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่บ้านซึ่งดูแลบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ต้องระมัดระวังเรื่องน้ำฝนที่ตกมาขังในภาชนะเก็บน้ำต่างๆ หากจะเก็บน้ำไว้ใช้ ต้องปิดฝาให้สนิทอย่าให้ยุงลงไปวางไข่ได้ ภาชนะที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือขยะรอบๆบ้านให้เก็บกวาด กลบฝังอย่าให้เป็นแหล่งน้ำขัง ให้ยุงลายลงไปวางไข่ได้
หากบ้านทุกหลังทั้ง 20 ล้านครอบครัว ช่วยกันคนละไม้คนละมือ จะทำให้ปริมาณยุงลดลงได้ โดยเฉพาะยุงในบ้าน ลดความเสี่ยงถูกยุงกัด ซึ่งในช่วงนี้ทั่วประเทศกำลังเผชิญภาวะฝนตกหนัก คนออกไปไหนมาไหนไม่ได้ ต้องอยู่ในบ้านรวมกัน สำหรับการฉีดสารเคมีพ่นฆ่ายุงตัวแก่นั้นเป็นวิธีแก้ไขปัญหาที่ปลายทาง และไม่ได้ผล 100 เปอร์เซ็นต์เนื่องจากยุงสามารถบินหนีได้
ทั้งนี้ เทคนิคการป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ หรือกำจัดยุงลายง่าย ๆ ตามภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งมีหลายพื้นที่ที่ทำแล้วได้ผล เช่น การใช้ลูกมะกรูดผลดิบ มาใส่ในภาชนะที่มีน้ำขัง จนกว่ามะกรูดเปลี่ยนสีเป็นสีเหลือง หรือน้ำตาล จึงเปลี่ยน เนื่องจากในผิวมะกรูดจะมีน้ำมันส่งกลิ่นไล่ยุงได้ หรือใช้ปูนที่กินกับหมากพลู มาปั้นให้เป็นก้อนแล้วนำไปตากแดดให้แห้ง จากนั้นนำมาใส่ในภาชนะใส่น้ำแทนทรายกำจัดลูกน้ำยุงลาย ทำให้น้ำมีสภาพเป็นกรดด่าง ยุงลายกลัว และอีกวิธีหนึ่งคือใช้ปี๊บขนมปังเปล่า เปิดฝา และใช้ผ้าสีดำใส่ในปี๊บ แล้วนำไปวางตามมุมอับของบ้านทิ้งไว้ เพื่อล่อยุงลายเข้าไปในปี๊บ จากนั้นจึงปิดฝาปี๊บและนำไปตากแดดให้ยุงตาย
ด้าน นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการสอบสวนผู้ที่ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก พบว่ากว่าร้อยละ 80 ถูกยุงลายในบ้านกัด โดยเชื้อโรคไข้เลือดออก จะทำให้มีเลือดออกง่ายในอวัยวะภายใน ถ้าเป็นมากจะมีอาการช็อกและเสียชีวิตได้ อาการของโรคไข้เลือดออกที่สำคัญ คือ ไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง อาจพบจุดเลือดที่ผิวหนัง มักจะไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก เว้นแต่เป็นไข้หวัดในเวลาเดียวกันด้วย ในการดูแลเบื้องต้นหากมีคนในบ้านป่วยด้วยไข้สูง ให้กินยาพาราเซตามอล เพื่อลดไข้ และ เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำเย็น หากไข้ยังไม่ลดใน 2 วัน ขอให้รีบพบไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาตามขั้นตอนทางการแพทย์ ห้ามซื้อยาประเภทแอสไพรินมากินเอง เพราะอาจทำให้มีเลือดออกในอวัยวะภายในมากขึ้น เสียชีวิตง่ายขึ้น
นายแพทย์มานิต กล่าวต่อว่า อาการช็อกของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก มักจะปรากฏขณะที่ไข้ลดลงในวันที่ 3-4 หลังมีไข้ ขอให้ประชาชนสังเกตอาการ โดยเฉพาะอาการของเด็กๆ ซึ่งมักบอกอาการตัวเองไม่ได้เหมือนผู้ใหญ่ ซึ่งตามปกติหลังไข้ทุเลาลงหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า สร่างไข้ ผู้ป่วยจะรู้สึกแจ่มใสดีขึ้น มีเรี่ยวแรงขึ้น แต่หากผู้ป่วยยังมีอาการซึมผิดปกติ ไม่ร่าเริง แสดงว่าอาจมีภาวะช็อก ขอให้รีบพาไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อรักษาอย่างทันท่วงที
********************************* 14 สิงหาคม 2553