สาธารณสุข ให้โรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต 17 แห่งทั่วประเทศ จัดรณรงค์ป้องกันโรคซึมเศร้าในหญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอดตลอดเดือนสิงหาคมนี้ เผยขณะนี้ในไทยพบปัญหาได้ปีละ 2 แสนคน มักพบในแม่มือใหม่ แม่วัยโจ๋ ผู้ที่มีปัญหาครอบครัว หากไม่เร่งแก้ไขตั้งแต่เริ่มอาการใหม่ๆ อาจกลายโรคซึมเศร้ารุนแรง และส่งผลร้ายต่อเด็ก ทั้งขาดสารอาหาร ไอคิวลดลง ส่วนแม่อาจเป็นรุนแรง กลายเป็นติดเหล้า-บุหรี่ ฆ่าตัวตายได้ 

          ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ตลอดเดือนสิงหาคม 2553 นี้ ได้ให้โรงพยาบาลในสังกัดกรมสุขภาพจิตทั้ง 17 แห่งทั่วประเทศ จัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ส่งเสริมสุขภาพจิตหญิงตั้งครรภ์ และหญิงหลังคลอด ป้องกันปัญหาโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงเพราะมีผลกระทบต่อตัวมารดาและลูกด้วย  
          ดร.พรรณสิริกล่าวว่า ในแต่ละปีมีหญิงเป็นโรคซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์ประมาณร้อยละ 10 หรือประมาณ 80,000 คน ในผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีปีละประมาณ 800,000 คน และพบในผู้หญิงหลังคลอดประมาณร้อยละ 15 หรือประมาณ 120,000 คน หญิงที่มีอาการดังกล่าวจะขาดความใส่ใจดูแลตนเอง คนรอบข้าง หากไม่ได้รับการดูแลแก้ไข จะมีผลกระทบทั้งตัวเองและลูก โดยเด็กจะมีความเสี่ยงขาดสารอาหาร เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด เด็กน้ำหนักตัวน้อย และมีปัญหาต่อพัฒนาการและอารมณ์ โดยเฉพาะไอคิวเด็กอาจต่ำกว่ามาตรฐาน ส่วนผลกระทบต่อตัวแม่ อาจกลายเป็นคนติดเหล้าบุหรี่ หรือฆ่าตัวตายในที่สุด  
          ที่ผ่านมาพบว่าผู้หญิงตั้งครรภ์และหลังคลอดที่เป็นโรคซึมเศร้า มักไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที เนื่องจากคนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นเพียงอาการที่เกิดจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย จึงพลาดโอกาสได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาจากแพทย์ บางรายโรคพัฒนาไปสู่ขั้นรุนแรง นำไปสูการฆ่าตัวตายได้ ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ได้ให้กรมสุขภาพจิตอบรมอสม.ทั่วประเทศ เพื่อตรวจคัดกรองอาการของหญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอดทุกคนเบื้องต้น เพื่อส่งพบแพทย์รักษาป้องกันอาการกำเริบรุนแรง
          ทางด้านนายแพทย์ธรณินท์ กองสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า โรคซึมเศร้าในหญิงตั้งครรภ์ เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมอง มักพบในผู้ที่ตั้งครรภ์แรก หญิงตั้งครรภ์ที่อยู่ในวัยรุ่น หรือการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ รวมทั้งผู้ที่มีปัญหาครอบครัว เช่น ทะเลาะ หย่าร้าง แยกกันอยู่ นอกใจกัน รวมทั้งผู้ที่ไม่ได้เพศบุตรตามที่ต้องการ หรือมีลูกเสียชีวิต ผู้ที่มีอาการจะมีอารมณ์เศร้าอย่างรุนแรง ซึมมาก ท้อแท้ วิตกกังวลไปทุกเรื่อง ร้องไห้ไม่มีเหตุผล โกรธทุกคนแม้กระทั่งลูก กินไม่ได้ นอนไม่หลับ หากเป็นในหญิงหลังคลอดอาการจะหายได้เองภายใน 6 เดือน หากไม่หายต้องได้รับการรักษาด้วยยา ควบคู่กับการรักษาทางจิตใจ เช่นการให้คำปรึกษาการแก้ไข การจัดการความเครียด หรือลดอาการซึมเศร้าโดยการออกกำลังกายครั้งละ 30 นาที อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์
          นายแพทย์ธรณินท์กล่าวต่อว่า ในการดูแลช่วยเหลือหญิงตั้งครรภ์และหลังคลอดที่มีโรคซึมเศร้า ขณะนี้ กรมสุขภาพจิตได้จัดอบรมแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอสม.ในการตรวจอาการผิดปกติเบื้องต้น โดยใช้แบบสอบถามง่ายๆ ถามอาการแค่ 2 ข้อ คือ 1.หดหู่ เศร้า หรือท้อแท้สิ้นหวัง 2.เบื่อ ทำอะไรก็ไม่เพลิดเพลิน หากมีข้อหนึ่งข้อใดหรือมีทั้ง 2 ข้อ แสดงว่ามีความเสี่ยง มีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งเจ้าหน้าที่จะต้องติดตามและประเมินต่อเนื่องทุกครั้ง ที่มารับบริการฝากครรภ์จนถึงหลังคลอดอย่างน้อย 6 สัปดาห์           
 
          วิธีดูแลป้องกันไม่ให้หญิงหลังคลอดเป็นโรคซึมเศร้า ครอบครัวหรือคนใกล้ชิด ต้องช่วยแบ่งเบาภาระงานในบ้าน ช่วยเหลือในการเลี้ยงดูลูก และอำนวยความสะดวกตามความเหมาะสม ให้แม่หลังคลอดได้กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายและพักผ่อนอย่างเพียงพอ ให้แม่หลังคลอดได้พูดคุยระบายเรื่องที่ไม่สบายใจ หรือเรื่องที่กังวล และสังเกตความผิดปกติของหญิงหลังคลอด หากพบว่ามีอาการเศร้าซึมเกิดขึ้น ขอให้รับแจ้งอสม. เจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านเพื่อประเมินภาวะซึมเศร้าต่อไป นายแพทย์ธรณินท์กล่าว
 
****************************    12 สิงหาคม 2553


   
   


View 9    12/08/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ