ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเผยผลหารือร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการด้านสาธารณสุขรอบ 2 ต้องขยายกรอบคณะกรรมการสมานฉันท์เพิ่มขึ้น พร้อมปรับรูปแบบการประชุมโดยให้แต่ละฝ่ายหารือให้ได้ข้อสรุปก่อนที่จะนำข้อสรุปมาตกลงร่วมกัน โดยกระทรวงสาธารณสุขจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายอำนวยการจัดการประชุมและเป็นผู้ให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
วันนี้(7 สิงหาคม 2553)ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังประชุมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างตัวแทนเครือข่ายผู้รับบริการ และตัวแทนผู้ให้การรักษาพยาบาลเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการด้านสาธารณสุขว่า พรบ.คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการด้านสาธารณสุขนี้มีหลักการที่ต้องการให้กลุ่มผู้รับบริการ และผู้ให้บริการมีความสุขทั้งคู่ ดังนั้นการประชุมครั้งนี้เป็นการหารือครั้งที่ 2 จากที่หารือในครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม 2553
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อไปว่า การประชุมในวันนี้ได้ข้อสรุปทั้งหมด 4 ข้อ ได้แก่ 1.กระทรวงสาธารณสุข จะเป็นฝ่ายอำนวยการและผู้สนับสนุน โดยจะไม่เป็น 1 ใน 3 ฝ่ายในคณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์ฯ แต่จะเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้เกิดการประชุม โดยจะเป็นฝ่ายเลขานุการในการประชุมรวมถึงให้ข้อมูลต่างๆที่จำเป็น 2.คณะกรรมการจะต้องเพิ่มจำนวนขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมทั่วถึงทุกกลุ่ม 3.จากการประชุมไม่มีการโหวตเพื่อการแพ้หรือชนะ ซึ่งผลประชุมของคณะกรรมการจะต้องออกมาเป็นข้อเสนอ ที่เห็นร่วมกันระหว่างผู้รับบริการกับผู้ให้บริการรวมถึงประเด็นที่แตกต่าง และ4.เพื่อให้เกิดการสมานฉันท์และขณะเดียวกันมีการตื่นตัวในกลุ่มผู้ให้บริการจำนวนมาก ดังนั้นรูปแบบการประชุมจะต้องมีการปรับเปลี่ยนโดยที่ต่างฝ่ายอาจจะประชุมในกลุ่มของตนเองก่อนแล้วจึงนำข้อสรุปของแต่ละฝ่ายมาสรุปอีกครั้ง
สำหรับข้อเสนอของเครือข่ายผู้ป่วย มีดังนี้ ได้แก่1.เห็นด้วยจะไม่กล่าวร้ายซึ่งกันและกัน 2.ทางเครือข่ายผู้ป่วยจะพยายามที่จะเสนอข้อดีที่ผู้ให้บริการและผู้รับบริการจะได้รับประโยชน์ 3.เฝ้าติดตามเรื่อง พรบ.นี้ให้เดินไปตามระยะเวลาที่เหมาะสม 4.เมื่อมีการจัดเวทีหารือในเรื่องที่เกี่ยวข้องทางกระทรวงสาธารณสุขเข้าไปร่วมด้วย นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าว
.................................. 7 สิงหาคม 2553
View 12
07/08/2553
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ