นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2553 เรื่องแผนจัดการเพื่อคุ้มครองสมุนไพรในพื้นที่เขตอนุรักษ์ (ระยะสั้น) พ.ศ.2553-2555 เป็นไปตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยพ.ศ.2542 ซึ่งได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2553 ดำเนินการในพื้นที่อนุรักษ์ 4 แห่ง ได้แก่ 1.พื้นที่ป่าชุมชนบ้านหัวทุ่ง เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ 2.พื้นที่เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี 3.พื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย อ.นาจะหลวย จ.อุบลราชธานี และ 4.พื้นที่ป่าเขาสลัดได อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า สมุนไพรไทยส่วนใหญ่มีแหล่งกำเนิดมาจากป่าไม้ ซึ่งปัจจุบันป่าไม้ถูกทำลายอย่างต่อเนื่องเหลือประมาณ 99 ล้านไร่ ทำให้ระบบนิเวศเกิดการเปลี่ยนแปลง มีผลให้พืชสมุนไพรบางชนิดใกล้สูญพันธุ์ รวมทั้งยังประสบปัญหาการลักลอบเข้าไปเก็บสมุนไพรอย่างผิดกฎหมาย ประมาณการว่าประเทศไทยมีพืชสมุนไพรที่ชุมชนท้องถิ่นมีองค์ความรู้ สามารถนำมาใช้เป็นอาหารและยาสมุนไพรประมาณ 800-1,800 ชนิด หรือประมาณร้อยละ 15 ของพันธุ์พืชที่มีอยู่ในประเทศทั้งหมด และมีผลการศึกษาพบว่าสมุนไพรไทยมากกว่า 100 ชนิด มีแนวโน้มจะหมดในอนาคต จึงต้องเร่งปกป้องเพื่อรักษาระบบนิเวศตามธรรมชาติ คงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพของสมุนไพรและบริเวณถิ่นกำเนิดของสมุนไพรในพื้นที่เขตอนุรักษ์ และเกิดการใช้สมุนไพรอย่างยั่งยืน
นายจุรินทร์กล่าวว่า แผนการคุ้มครองสมุนไพรในพื้นที่เขตอนุรักษ์ 3 ปี ประกอบด้วย 4 แผนงานได้แก่ 1. การกำหนดเงื่อนไขการอนุญาตให้บุคคลเข้าไปในพื้นที่ฯ 2.แผนประสานความร่วมมือระหว่างส่วนราชการและชุมชน 3.แผนงานสำรวจและศึกษาวิจัยสมุนไพรและบริเวณถิ่นกำเนิดสมุนไพร 4.แผนติดตามประเมินผล เพื่อลดภาวะคุกคามที่มีผลกระทบต่อสมุนไพรและบริเวณถิ่นกำเนิดสมุนไพร โดยดำเนินการร่วมกันหลายหน่วยงานเช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เครือข่ายท้องถิ่น เครือข่ายหมอพื้นบ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล เป็นต้น ใช้งบดำเนินการจากกองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 9 ล้านบาทเศษ
ทั้งนี้ รายละเอียดของพื้นที่อนุรักษ์ 4 แห่ง ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขมีดังนี้ พื้นที่เขตอนุรักษ์พื้นที่ป่าชุมชนบ้านหัวทุ่ง เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่มีพื้นที่ประมาณ 8,000 ไร่ จากการศึกษาความหลากหลายทางพันธุ์พืช พบว่ามีพืชสมุนไพรที่หมอยาพื้นบ้านเคยใช้ประโยชน์รวม 133 ชนิด พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี มีพื้นที่ 9 หมื่นกว่าไร่ ถือว่าเป็นผืนป่าใหญ่แห่งเดียวและแห่งสุดท้ายของจังหวัดลพบุรีและภาคกลางที่มียังคงความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ผลการศึกษาวิจัยของผู้เชี่ยวชาญพบสมุนไพรที่มีคุณค่าอย่างน้อย 54 ชนิด และที่สำคัญยังพบสมุนไพรหลายตัวเช่น กลึงกล่อม ซึ่งมีผลวิจัยเบื้องต้นพบว่ามีฤทธิ์ต้านเชื้อเอดส์ในหลอดทดลองด้วย
พื้นที่อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย จ.อุบลราชธานี มีพื้นที่ 4 แสนกว่าไร่ เป็นพื้นที่ติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และกัมพูชา จากการสำรวจพื้นที่ตัวอย่างจำนวน 12 แปลง พบสมุนไพร 171 ชนิด ในจำนวนนี้หมอพื้นที่บ้านนำมาใช้ประโยชน์กว่า 100 ชนิด และยังพบสมุนไพรตัวใหม่อีก 39 ชนิดที่ยังไม่มีการบันทึกว่าเป็นสมุนไพรมาก่อน ซึ่งในการสำรวจสมุนไพรในพื้นที่แห่งนี้ จะดำเนินการใน 3 อำเภอรอบๆ เขตอุทยานได้แก่ อ.นาจะหลวย อ.น้ำยืน และ อ.บุณฑริก สำหรับพื้นที่ป่าเขาสลัดได อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา มีพื้นที่ 1 ล้านกว่าไร่ เป็นอุทยานที่มีขนาดใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ และเป็นป่าลานผืนสุดท้ายของประเทศ มีพืชสมุนไพรที่สำรวจพบเบื้องต้นมากกว่า 200 ชนิด ในจำนวนนี้ทราบชื่อ 149 ชนิด ที่เหลืออีก 54 ชนิดยังไม่ทราบชื่อ แต่หมอพื้นบ้านนำมาใช้ประโยชน์ 86 ชนิด มีพืชหายาก 12 ชนิด มีพืชคุ้มครอง 2 ชนิดคือกวาวเครือขาวและกวาวเครือแดง ขณะนี้มีหมอพื้นบ้านที่ยังใช้ประโยชน์จากสมุนไพรจำนวน 6 คน
นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า พื้นที่ตามประกาศครั้งนี้ 4 แห่ง กระทรวงสาธารณสุขได้ให้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ จัดทำโครงการสำรวจและศึกษาสมุนไพร เพื่อให้ทราบข้อมูลสมุนไพรที่ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ โดยนักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจัดทำทะเบียนพันธุ์พืชสมุนไพรในเขตพื้นที่อนุรักษ์ และนำมาจัดทำเป็นแผนจัดการคุ้มครองในระยะยาว เพื่อใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไป
************************** 27 กรกฎาคม 2553
View 22
27/07/2553
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ