ขยายการเติมสารไอโอดีนในซีอิ๊วน้ำปลาด้วย ป้องกันคนไทยเป็นโรคเอ๋อ   ผลสำรวจล่าสุดในปี 2552 พบ ไอคิวคนไทยสูงเพียง 91 ไอคิว ส่วนพัฒนาการเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบลดลง    ชี้ขณะนี้มี9 จังหวัดเสี่ยงสูงขากไอโอดีนรุนแรง ส่วนหญิงท้องพบขาดร้อยละ 60 เร่งองค์การเภสัชกรรมผลิตไอโอดีนเม็ดแจกหญิงท้องฟรี  

วันนี้ (19 กรกฎาคม 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2553 ว่า ที่ประชุมได้มีความเห็นตรงกันว่า ไอโอดีนมีผลต่อการพัฒนาไอคิวของคน เพราะไอโอดีนมีผลในการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งมีผลต่อการสร้างใยสมองและการเจริญเติบโตทางร่างกาย หากทารกที่เกิดมาขาดสารไอโอดีนอาจเป็นโรคปัญญาอ่อน หรือมีปัญหากระทบต่อสภาพร่างกายได้ ดังนั้นไอโอดีนมีความสัมพันธ์กับไอคิวของมนุษย์
นายจุรินทร์ กล่าวว่า จากผลการสำรวจไอคิวของคนไทย โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สว.รส.) เมื่อปี 2552 จากกลุ่มตัวอย่าง 6,000 ราย ใน 21 จังหวัด พบไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ 91 ซึ่งไอคิวเฉลี่ยสากลอยู่ที่ 90-110 ขณะเดียวกันผลการสำรวจพัฒนาการสมวัยในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบมีพัฒนาการสมวัยลดลงเรื่อยๆ โดยปี 2542 มีพัฒนาการสมวัยร้อยละ 72 ปี 2547 ร้อยละ 71 และปี 2550 ลดลงเหลือร้อยละ 67 ส่วนในปี 2553 อยู่ระหว่างการสำรวจ
เพราะฉะนั้น แนวทางแก้ปัญหาจะต้องให้ความสำคัญกับไอโอดีนอีกครั้ง โดยเน้นการแก้ปัญหาในองค์รวม ที่สำคัญที่สุดจะเน้นการเสริมไอโอดีนในเกลือและอาหารที่คนไทยรับประทานประจำวัน เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว ได้มอบให้กรมอนามัยไปทำการศึกษาถึงความเหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ นโยบายขององค์การอนามัยโลกต้องการให้ทุกประเทศในโลก กำหนดนโยบายเกลือผสมไอโอดีนอย่างถ้วนหน้า คือต้องดำเนินการให้เกลือไอโอดีนกระจายให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ เพื่อป้องกันไม่ให้ประชากรในชาติขาดไอโอดีน ซึ่งประเทศไทยวัฒนธรรมการบริโภคต่างจากประเทศอื่นๆ ทางยุโรป เพราะเรามีการบริโภคน้ำปลา อาจจะเสริมไอโอดีนได้ด้วย
           สำหรับเกลือขณะนี้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแล 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข มีประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในปี 2537 กำหนดให้เกลือบริโภคจะต้องมีไอโอดีนไม่น้อยกว่า 30 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม หากไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามนี้จะมีโทษ เช่น การผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายจะมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือถ้ามีการกำหนดฉลากที่ไม่ถูกต้องปรับไม่เกิน 30,000 บาท เป็นต้น
จากนี้ไปกระทรวงสาธารณสุขจะบังคับใช้ประกาศฉบับนี้อย่างเคร่งครัด และได้มอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาปรับปรุงแก้ไขประกาศฉบับนี้ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และนโยบายไอโอดีนให้มากยิ่งขึ้น คาดว่าภายใน 2-3 เดือนจะออกประกาศฉบับใหม่ได้ ส่วนกระทรวงเกษตรฯรายงานว่าอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่าควรกำหนดให้มีการเสริมไอโอดีนในไข่หรือไม่ รวมทั้งการกำหนดมาตรฐานไอโอดีนของอาหารสัตว์ สำหรับกระทรวงอุตสาหกรรม มีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมปี 2550 กำหนดมาตรฐานเกลืออุตสาหกรรม โดยระบุมาตรฐานอุตสาหกรรมไว้ว่าจะต้องมีไอโอดีนไม่น้อยกว่า 30 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัมเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นแค่มาตรฐานอุตสาหกรรม แต่ไม่ได้บังคับ                                              
 
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า กลุ่มที่มีความเสี่ยงขาดไอโอดีนมี 3 กลุ่ม ได้แก่1.หญิงตั้งครรภ์ที่พบว่าร้อยละ 60 ขาดสารไอโอดีน ส่งผลกระทบต่อทารกทั้งสมองและร่างกาย ได้มอบให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประสานงานกับองค์การเภสัชกรรมในการผลิตไอโอดีนสำหรับหญิงตั้งครรภ์ อาจผสมเหล็กหรือโฟเลต 2.เด็กแรกเกิดจะมีการตรวจฮอร์โมนไทรอยด์ว่ามีปริมาณที่พอเพียงหรือไม่ หากพบว่ามีปัญหาให้ยาหรือรักษาทันทีโดยไม่ต้องรอการตรวจซ้ำ และกลุ่มที่ 3.ได้แก่กลุ่มเด็กเล็กจนถึงกลุ่มประชาชนทั่วไป แก้ปัญหาโดยการส่งเสริมให้บริโภคเกลือผสมไอโอดีนในปริมาณที่เพียงพอ
สำหรับพื้นที่เสี่ยงที่ขาดไอโอดีนอย่างรุนแรง เบื้องต้นพบว่ามี 9 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ระยอง พิจิตร มหาสารคาม น่าน อำนาจเจริญ อุดรธานี หนองคาย และนครปฐม ได้ให้กรมอนามัยลงไปสำรวจถึงระดับตำบลและหมู่บ้าน นอกจากนี้ ยังมอบให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมอนามัย ร่วมกันดำเนินการวิจัย จัดทำข้อมูลพื้นฐาน ประเมินสถานการณ์ไอโอดีนของแต่ละพื้นที่ เพื่อวางมาตรการแก้ไขและประเมินผล หากไม่มีปัญหาการขาดไอโอดีนจะช่วยให้คนไทยเติบโตสมวัย มีพัฒนาการสมวัย โดยเฉพาะในเด็ก และมีไอคิวที่พัฒนาในทิศทางที่ดีขึ้น
 
   *************************************** 19 กรกฎาคม 2553
 


   
   


View 18    19/07/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ