วันนี้(19 กรกฎาคม 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี    นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์หลังประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับความคืบหน้าสถานการณ์โรคไข้เลือดออกว่า ได้มอบหมายให้ดำเนินการเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากโรคไข้เลือดออก ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิต 3 ราย ในจังหวัด ยะลา ตาก และนครพนม ยอดสะสมตั้งแต่ต้นปีมีผู้เสียชีวิตรวม 36 ราย มีผู้ป่วยรวม 36,087 ราย คิดเป็นแสนละ  56.81 คน โดยพบในภาคใต้ 9,718 ราย ภาคกลาง 12,118 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9,711 ราย และภาคเหนือ 4,540 ราย จังหวัดที่มีผู้ป่วยสะสมมาก 10 อันดับแรกได้แก่ สงขลา จันทบุรี ปัตตานี นราธิวาส ระยอง พัทลุง ตาก ยะลา สตูล และตราด

นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ได้สั่งการให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เร่งรัดให้ทุกจังหวัดติดตามแก้ไขปัญหา และเฝ้าระวังเป็นพิเศษ และสั่งการให้มีการรายงานเพื่อดูประสิทธิภาพการรักษา คืออัตราการป่วยตาย กับประสิทธิภาพในการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เพื่อควบคุมปริมาณยุงลาย โดยให้รายงานดัชนีลูกน้ำยุงลาย ซึ่งดำเนินการสำรวจ 2 ส่วน คือ จำนวนบ้านที่พบลูกน้ำยุงลายมีกี่เปอร์เซ็นต์ (House Index) ซึ่งตามมาตรฐานจะต้องมีน้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์และจำนวนภาชนะ(Container index) ที่อยู่ในโรงเรียน โรงพยาบาลที่พบลูกน้ำยุงลายมีกี่เปอร์เซ็นต์ ตามมาตรฐานจะต้องไม่มีเลย  หรือมีค่าเป็นศูนย์เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะสะท้อนประสิทธิภาพในการดูแล ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายของแต่ละพื้นที่ 
ทั้งนี้ในภาคใต้ที่มีรายงานผู้ป่วยสูงขึ้น อาจมีปัญหามาจากการควบคุมโรคในพื้นที่ยากกว่าพื้นที่อื่น ซึ่งเป็นหน้าที่ของแต่ละจังหวัด ต้องใช้กลไกการรณรงค์ป้องกันตั้งแต่ต้นปีและทำอย่างต่อเนื่อง เมื่อเข้าฤดูฝนต้องรณรงค์ให้มากขึ้น โดยการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นและชุมชน โดยใช้ยุทธวิธี 5 ป. ได้แก่ ปิดฝาโอ่ง เปลี่ยนน้ำในแจกันทุก 7 วัน ปล่อยปลากินลูกน้ำ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม และปฏิบัติเป็นนิสัย โดยเฉพาะในชุมชนขนาดใหญ่ โรงพยาบาลและโรงเรียน ต้องไม่มีแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย  
ทางด้านนายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล   รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วยไข้เลือดออก ประการแรกขึ้นอยู่กับความรุนแรง โดยทั่วไปผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีอาการจากน้อยไปหามาก อาการน้อย คือ มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน มีตุ่มเลือดออก หากมีอาการมากจนถึงภาวะช็อก ถือว่ารุนแรง ซึ่งเรียกว่า ภาวะช็อกจากไข้เลือดออก ประการที่2. เกิดจากระบบการให้บริการ การวินิจฉัย การส่งต่อ และการรักษาพยาบาลได้ทันท่วงที ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้มีการพัฒนาและฝึกอบรมบุคลากรทุกระดับในเรื่องการวินิจฉัยและการส่งต่ออย่างสม่ำเสมอ โดยหากมีอาการรุนแรงต้องใช้ระบบการวินิจฉัยและส่งตัวไปรักษาต่อในสถานพยาบาลที่มีศักยภาพสูงขึ้น   ซึ่งทุกปีจะมีอัตราเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกอยู่ที่ร้อยละ 0.1
ส่วนทรายกำจัดลูกน้ำยุงลาย หรือทรายทีฟอส ที่ใช้ในขณะนี้ มีประสิทธิภาพสามารถฆ่าลูกน้ำภายใน 15-30 นาที ในความเข้มข้น 1 ส่วนต่อล้านส่วน ไม่เป็นอันตรายต่อคน โดยสำนักงานป้องกันควบคุมโรค ของกรมควบคุมโรค และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทดสอบมาตรฐานทรายกำจัดลูกน้ำยุงลายเป็นระยะ หากตรวจพบว่าไม่ได้มาตรฐาน ก็จะเสนอแนะหรือแจ้งหน่วยงานที่มีงบประมาณจัดซื้อ เช่น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นได้ทราบ 
ทางด้านนายแพทย์อนุตรศักดิ์ รัชตะทัต หัวหน้ากลุ่มไข้โรคไข้เลือดออก กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการสำรวจดัชนีลูกน้ำยุงลาย ทุกจังหวัดจะมีข้อมูลเพื่อใช้ในการดูแลแก้ไขปัญหาในจังหวัด ดังนั้นจังหวัดที่มีผู้ป่วยไข้เลือดออกค่อนข้างสูง อาจมีความหนาแน่นของยุงที่เป็นพาหะสูง อย่างไรก็ตามอัตราการเสียชีวิตของโรคไข้เลือดออกในปีนี้ ยังไม่แตกต่างกับปีผ่านมา ยังไม่สูงเกินร้อยละ 0.1 ส่วนเรื่องการกลายพันธุ์นั้น ยังไม่มีปัญหา และไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่แต่อย่างใด โดยเชื้อโรคไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ คือสายพันธุ์ที่ 1,2,3,4 เชื้อที่ระบาดในปีนี้คือสายพันธุ์ที่ 1 เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา ประชาชนที่ติดเชื้อสายพันธุ์นี้แล้ว จะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้นๆ   แต่หากติดเชื้อสายพันธุ์อื่นเช่นสายพันธุ์ที่ 2 หรือ3 หรือ 4 ก็จะมีการป่วยได้อีก    สำหรับพื้นที่ที่มีลูกน้ำยุงลายมาก กระทรวงสาธารณสุขพยายามจะให้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเข้าไปจัดการดูแล 
************************** 19 กรกฎาคม 2553
 


   
   


View 20    19/07/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ