วันนี้ (16 กรกฎาคม 2553) ที่เมืองเจจู สาธารณรัฐเกาหลี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมประชุมรัฐมนตรีระดับภูมิภาคว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 2(The 2nd. Ministerial Regional Forum on Environment and Health in Southeast and East Asian Countries) 14 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน มองโกเลีย พม่า ลาว เวียดนาม บรูไน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย กัมพูชา และไทย จัดโดยสำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และองค์การอนามัยโลก (WHO)
นายจุรินทร์กล่าวว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันร่างปฏิญญาเจจูด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม (Jeju Declaration on Environment and Health) เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีและมีสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน จำนวน 7 เรื่อง ประกอบด้วย 1.คุณภาพอากาศ 2.น้ำสะอาด สุขอนามัยและสุขาภิบาล 3.การกำจัดของเสียที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการจัดการสารเคมีอย่างปลอดภัย 4.สารเคมีเป็นพิษและสารอันตราย 5.การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างเพียงพอ 6.ความฉับไวในการปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉินด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม และ7.การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพจากสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ รวมทั้งสิ่งอื่นที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจำเป็นต้องมีความร่วมมือระหว่างองค์กรหลายสาขาในการประสานงาน การวางแผน การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยีและทรัพยากร ทั้งในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศร่วมกัน เพื่อพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมสาธารณสุขในประเทศ รวมทั้งเสริมสร้างให้แต่ละประเทศทำการศึกษาวิจัย การฝึกอบรม และการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีคณะทำงานด้านวิชาการจาก 6 คณะเป็น 7 คณะ ดังนี้ 1.คุณภาพอากาศ 2.น้ำ สุขาภิบาล และสุขอนามัย ซึ่งคณะทำงานชุดนี้เดิมชื่อคณะทำงานด้านน้ำสะอาด สุขอนามัย และสุขาภิบาล เพื่อปรับปรุงเรื่องสุขาภิบาลและสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน 3.ขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย 4.สารเคมีเป็นพิษและสารอันตราย 5.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากการลดลงของชั้นโอโซนและการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์ 6.การวางแผน การเตรียมการ เพื่อรองรับภาวะฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข และ7.การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ
ทั้งนี้ ในที่ประชุมยังได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกพิจารณาสร้างกลไกที่ยั่งยืน และสนับสนุนเงินทุนเพื่อใช้เป็นศูนย์ฝึกอบรมและวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในระดับภูมิภาค โดยขอให้โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลกเป็นคณะเลขานุการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามความร่วมมือระดับภูมิภาคและคณะทำงานต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือนี้ รวมทั้งปรับปรุงองค์กรภาคีระหว่างประเทศซึ่งจะประชุมร่วมกันในอีก 3 ปี ข้างหน้า
***************** 16 กรกฎาคม 2553
View 18
16/07/2553
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ